วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ความหมายและการเจริญมุทิตา



๒.๒.๓ ความหมายของคำว่า มุทิตา
คำว่า  มุทิตา  เป็นคำในภาษาบาลี  แปลว่า  ความพลอยยินดี[1]  แยกศัพท์ได้ดังนี้  “มุท”  ธาตุในความหมายว่า  หสเส[2]  (รื่นเริง  บันเทิง)  ลง  ตา  ปัจจัยๆ ในกิริยากิตก์
          มีอรรถวิเคราะตามลำดับดังนี้
๑. โมทนฺติ  ตาย  ตํ  สมงฺคิโนติ  มุทิตา  แปลว่าชนทั้งหลายย่อมยินดี  แปลว่าชนทั้งหลายย่อมยินดีต่อผู้พรั่งพร้อมสมบัตินั้น  ด้วยธรรมชาตินั้น  เหตุนั้น  ธรรมชาตินั้นอันเป็นเหตุให้ยินดีต่อผู้พรั่งพร้อง  เรียกว่ามุทิตา
๒. สยํ  โมทตีติ  มุทิตา  แปลว่าธรรมชาติใดย่อมยินดีเอง เพราะเหตุนั้นธรรมชาตินั้นเรียกว่า  มุทิตา
๓. โมทนมตฺตเมว  วา  ตนฺติมุทิตา  แปลว่าเพียงความยินดีเท่านั้น  ชื่อว่า  มุทิตา
๔. โมทนมตฺตเมว  วา  ตนฺติ  มุทิตา  แปลว่าเพียงความยินดีเท่านั้น ชื่อว่า  มุทิตา
๕. โมทนฺติ  วต  โภนฺโต  สตฺตา  โมทนฺติ  สาธู  สุฎฐาติอาทินา  นเยนหิตสุขาวิปฺปโยคกามตา   มุทิตา  แปลว่าความเป็นผู้ไม่ปรารถนาให้สัตว์ทั้งหลายพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุข  โดยนัยเป็นต้นว่า  สัตว์ทั้งหลายย่อมรื่นเริงบันเทิงหนอ  สัตว์ทั้งหลายรื่นเริงบันเทิงอยู่  ช่างดีหนอ  ชื่อว่ามุทิตา
๖. ตตฺถ  กตมา  มุทิตา  ยา  สตฺเตสุ  มุทิตา  มุทิตายนา  มุทิตายิตตฺตํมุทิตา  เจโตวิมุตฺติ  อยํ  วุจฺจติ  มุทิตา  แปลว่าบรรดาธรรมเหล่านั้น  มุทิตาเป็นไฉน  ความพลอยยินดี  กิริยาที่พลอยยินดี  ภาวะที่พลอยยินดี  มุทิตาเจโตวิมุตตินี้เรียกว่า มุทิตา[3]
จากข้อความดังกล่าวมา  มุทิตา  หมายถึงความยินดี  ความพลอยยินดีต่อความสำเร็จต่อคุณงามความดีของผู้อื่น  หรือต่อการได้ลาภ  ได้ยศ  ได้รับความสุข  ได้รับความสรรเสริญของผู้อื่น  ย่อมเกิดขึ้นต่อสาธุชน  เมื่อได้ประสบพบเห็นคนหรือสัตว์ผู้ประสบความสำเร็จ  ผู้ประกอบคุณงามความดีได้รับความสุขในปัจจุบัน  หรือผู้ประกอบคุณงามความดี  แต่ในปัจจุบันตกทุกข์ได้ยากมีความลำบาก  แม้บุคคลประเภทหลังนี้ก็สามารถเจริญความพลอยยินดีไปให้ได้  โดยนึกถึงผลของคุณงามความยินดีที่เขาเคยทำไว้ในกาลก่อน  อันจะให้ผลเป็นความสุขความเจริญรุ่งเรืองในสัมปรายภพข้างหน้า
มุทิตา  คือความพลอยยินดีนี้  สามารถแบ่งได้เป็น    อย่างคือ
๑. มุทิตาเทียม  คือมุทิตาที่เจือด้วยอกุศล  ได้แก่มุทิตาของผู้ที่พลอยยินดีต่อความสำเร็จด้านต่างๆ ของผู้อื่น  แต่การยึดมั่นถือมั่นหรือมีขอบเขตจำกัด  มุทิตาประเภทนี้ย่อมจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อพ่อแม่พี่น้อง  เพื่อนๆและคนคุ้นเคยผู้ที่รักกันเท่านั้นประสบความสำเร็จ  ซึ่งเป็นมุทิตาปุถุชนชาวโลกทั่วไป  เป็นมุทิตาที่หวังประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง  เช่นเมื่อบิดามารดาเป็นต้นของตนได้เลื่อนยศเป็นต้น  ผู้เป็นบุตรหลานหรือญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้องก็พลอยยินดีไปด้วย  โดยนึกคิดในใจว่าตนเองก็จะพลอยมีหน้าตา  มีชื่อเสียงไปด้วย  มุทิตาประเภทนี้เป็นมุทิตาที่เจือด้วยกิเลส  ซึงเป็นมุทิตาที่ยังไม่สมบูรณ์ไม่ถูกต้อง  ผู้ปฎิบัติจำต้องพัฒนาให้มีสภาพเป็นมุทิตาแท้ต่อไป
๒. มุทิตาแท้  คือมุทิตาที่เป็นกุศล  ได้แก่มุทิตาของผู้ที่เมื่อประสบพบเห็นคนผู้ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ  หรือผู้ที่กำลังกระทำคุณงามความดีอยู่  ก็พลอยรู้สึกพลอยยินดีไปกับเขาด้วยไม่จำกัดว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จนั้นจะเป็นพ่อแม่ญาติพี่น้อง  คนคุ้นเคยกัน  คนไม่คุ้นเคยกันรวมถึงคนที่เป็นศัตรูกัน  ก็สามารถพลอยยินดีต่อความสำเร็จเป็นคนของเขาเหล่านั้นได้  โดยมิได้มีความคิดเลยว่าตนเองจะได้รับประโยชน์อันเนื่องจากความสำเร็จของเขา  อีกอย่างหนึ่งตนเองก็มิได้มีความรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ  ริษยาต่อเขา  โดยเฉพาะต่อผู้ที่เป็นศตรูกัน  ในทางตรงกันข้ามท่านผู้เจริญมุทิตาแท้  จะมีแต่สภาพจิตใจที่เบิกบานแจ่มใสไม่ขุ่นมัว  อันเนื่องจากมุทิตาแท้นั้นมีสภาพเป็นมหากุศล
สรุปความว่ามุทิตาแท้เท่านั้น  เมื่อบุคคลบำเพ็ญแล้ว  ตนเองจะมีความสุขอย่างแท้จริง  ไม่มีความเดือดร้อนกายใจ  เนื่องจากเป็นมหากุศลจิต  ตนเองจะมีความสุขอย่างแท้จริง  ไม่มีความเดือดร้อนกายใจ  เนื่องจากเป็นมหากุศลจิต  โดยตนเองเต็มเปี่ยมไปด้วยสภาพจิตที่เบิกบาน   สดชื่น  แจ่มใส  พลอยยินดีต่อความสำเร็จของทุกผู้ทุกคน  โดยไม่มีการยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นพี่น้องเป็นต้น  ส่วนมุทิตาที่เจือด้วยอกุศล  เป็นสภาพของโลภะซึ่งเป็นอกุศลจิต  ยังมีอุปาทานมีขอบเขตจำกัด  รวมถึงการที่ตนพลอยยินดีด้วย  ก็เพราะมีความหวังจะได้รับประโยชน์ด้วย  มุทิตานี้เมื่อเกิดขึ้นครั้งแรกก็เป็นมหากุศลจิต  ต่อมาเพราะอโยนิโสมนสิการ  การกระทำไว้ในใจไม่แยบคาย  มหากุศลจิตจึงเสื่อมไป  อกุศลจิตจึงเกิดขึ้นแทน  ดังนั้นผู้บำเพ็ญเพียรจำต้องพยายามพัฒนาให้เป็นมหากุศลจิต  ซึ่งเป็นมุทิตาแท้ต่อไป
๒.๒.๓.๑ ลักษณะของมุทิตา
ในคัมภีร์อรรถกถาได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า  มุทิตา  มีความยินดีด้วยเป็นลักษณะมีความไม่ริสยาเป็นกิจ  มีอันจำกัดความไม่ใยดีด้วยเป็นผลปรากฏ  มีอันได้เห็นสมบัติของสัตว์ทั้งหลายเป็นบรรทัดฐาน  มีความสงบแห่งความไม่ยินดีด้วยเป็นสมบัติ  มีอันเกิดความสนุกร่าเริงเป็นความวิบัติ[4]
ในคัมภีร์วิมุตติมรรค  ได้อธิอบายไว้โดยตั้งเป็นคำถามและแสดงคำตอบของปัญหาไว้ดังนี้
ถาม อะไรคือมุทิตา?  อะไรเป็นปัจจุปัฎฐาน?  อะไรเป็นลักษณะ?  อะไรเป็นรส?  และปทัฎฐานของมุทิตา?
ตอบ เปรียบเหมือนบิดามารดาผู้มองดูบุตรน้อยคนเดียวของตน  มีความชื่นชม  และพูดว่า  สาธุ  ฉันใด  โยคีเจริญมุทิตาเพื่อสรรพสัตว์ก็ฉันนั้นความสงบนิ่งแห่งจิตในมุทิตานี้เรียกว่า  ปัฎฐาน  ความชื่นชมเป็นละกษณะความไม่หวาดกลัวเป็นรส  ความสิ้นไปแห่งความไม่ชอบเป็นปทัฎฐานของมุทิตา...[5]
จากข้อความดังกล่าวจะเห็นได้ว่า  มุทิตา  เป็นความพลอยยินดีต่อทรัพย์  สมบัติ  คุณงามความดี  ความสำเร็จในด้านต่างๆ  ของผู้อื่น  ปราศจากความริษยา  เป็นลักษณะที่เต็มเปี่ยมไปด้วยไมตรี  ชื่นชมยินดีต่อทุกผู้ทุกคนเหมือนกันหมด  มุทิตาเป็นกุศลจิตซึ่งมักจะเกิดขึ้นแก่สาธุชน  มีลักษณะที่เป็นนามธรรม  และบุคคลสามารถกระทำให้ปรากฏผลเป็นรูปธรรมได้  ด้วยพฤติกรรมทางกาย   และวาจาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความพลอยยินดี  โดยไม่มีเงื่อนไข  คือไม่หวังผลประโยชน์อันใดเพื่อคน  คุณธรรมคุณธรรมข้อนี้มักจะเกิดขึ้นกับสาธุชนทั่วไป  แต่สำหรับคนที่ชั่วช้าต่ำทรามแล้ว  เมื่อเขาเห็นผู้อื่นประสบความสำเร็จ  แทนที่จะพลอยยินดีต่อเขา  แต่ไม่เลยกลับรู้สึกไม่พอใจเกิดความริสยาอิจฉาเขา  กลัวคนอื่นเขาได้ดีเท่าเทียมตน  หรือได้ดีกว่าตน  ซึ่งเป็นตัณหาประเภทวิภวตัณหา  เขาก็จะมีแต่ความเดือดร้อนโดยส่วนเดียว
๒.๒.๓.๒ ปฎิปักขธรรมของมุทิตา
คำว่า  ปฎิปักษ์  คือสิ่งที่เป็นศัตรูกัน   สิ่งที่ตรงกันข้าม  หรือสิ่งที่เป็นอันตราย  ต่อมุทิตา  ซึ่งเป็นสิ่งที่ติองป้องกันมิให้บังเกิดขึ้น  มุทิตาเป็นธรรมฝ่ายกุศล  ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับมุทิตา  ก็จะต้องเป็นธรรมฝ่ายอกุศล  ซึ่งมีอยู่    ประการ  โดยจัดเป็นข้าศึกใกล้อย่างหนึ่งและข้าศึกไกลอย่างหนึ่ง  ดังนี้
ก. ข้าศึกใกล้ของมุทิตา  ได้แก่  โสมนัส  แปลว่า “ความสุขใจ  ความปลาบปลื้มใจความเบิกบาน”[6]  มีรูปวิเคราะห์ว่า  “ปีติโสมนสฺสโยคโต  โสภนํ  มโน  อสฺสาติ  สุมโน  สุมนสฺส  ภาโว  โสมนสฺสํ  แปลว่าใจที่ดีงาม  เพราะประกอบด้วยปีติและโสมนัส  ของเขามีอยู่  เพราะเหตุนั้น  จึงชื่อว่าสุมโน  ภาวะแห่งผู้มีใจดี  ชื่อว่าโสมนัสสะ”
ในคัมภีร์วิภังค์กล่าวถึงโสมนัสไว้ว่า[7] “บรรดาธรรมเหล่านั้น  โสมนัสเป็นไฉนความแช่มชื่นอันเป็นไปทางใจ...  เวทนาที่แช่มชื่นเป็นสุข  นี้เรียกว่าโสมนัส”  ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้กำลังประสบความสำเร็จ  เจริญรุ่งเรืองอยู่  กำลังเกิดความชื่นชมยินดี  สมดังพุทธพจน์ที่ว่า  “โสมนัสจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ  ตนเองกำลังได้รับความสุขความเจริญรุ่งเรืองอยู่  กำลังเสวยอิฎฐารมณ์เป็นลักษณะ”[8] สภาพจิตของผู้นั้นก็จะมีแต่ความเบิกบานแจ่มใส  เมื่อเป็นเช่นนี้  โสมนัสนั้นท่านแบ่งออกเป็น    ประการนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจำแนกไว้ตามลำดับดังนี้ว่า
ในโสมนัส    อย่างนั้น  โสมนัสที่อิงอาศัยกิเลส  มี    อย่างเป็นไฉน   เมื่อบุคคลตามพิจาณาถึงการได้รับ  รูปารมณ์ทั้งหลายที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุ  ที่น่าปรารถนา  โสมนัสย่อมเกิดขึ้น  โสมนัสมีอย่างนี้เป็นรูปท่านเรียกว่า  โสมนัสที่อิงอาศัยกิเลส
โสมนัสที่อิงอาศัยเนกขัมมะ    อย่างเป็นไฉน  เมื่อบุคคลเห็นรูปทั้งหลายว่าไม่เที่ยง...  โสมนัสย่อมเกิดขึ้น  โสมนัสมีอย่างนี้เป็นรูปท่านเรียกว่าโสมนัสอิงอาศัยเนกขัมมะ[9]     
จากเนื้อความข้างต้น  พิจารณาเห็นได้ว่า  โสมนัสที่เป็นข้าศึกใกล้ต่อมุทิตานั้น  ก็คือโสมนัสที่อิงอาศัยกิเลสนั้นเองสำหรับโสมนัสที่อิงอาศัยเนกขัมมะมีสภาวะเป็นมหากุศลมิได้เป็นข้าศึกแต่ประการใดเลย  อันเนื่องจากเกิดขึ้นโดยโยนิโสมนสิการอันแยบคาย  ซึ่งเป็นธรรมที่อุดหนุนมุทิตาให้เจริญมีผลมากยิ่งขึ้น  เพื่อความกระจ่างชัดแห่งโสมนัสที่อิงอาศัยกิเลส  ซึ่งเป็นข้าศึกใกล้ต่อมุทิตาพรหมวิหาร
พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า
โสมนัสที่อิงอาศัยกิเลส  อันมาแล้ว  โดยนัยเป็นต้นว่า  เมื่อบุคคลตามพิจารณาถึงการได้รับรู้รูปารมณ์ที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุ  ที่น่าปรารถนา  โสมนัสเกิดขึ้น  โสมนัสมีอย่างนี้เป็นรูปท่านเรียกว่า  โสมนัสที่อิงอาศัยกิเลส  ชื่อว่าข้าศึกใกล้ของ  มุทิตาพรหมวิหาร  เพราะมีส่วนที่เหมือนกันคือมุ่งถึงสมบัติ  เพื่อความกระจ่างชัดว่าโสมนัสที่อิงอาศัยกิเลส  มีสภาพเป็นอกุศล  อันผู้บำเพ็ญมุทิตาไม่ควรเสพ  ไม่ควรเจริญ  แต่โสมนัสที่อิงอาศัยเนกขัมมะ  มีสภาพเป็นมหากุศล  อันผู้บำเพ็ญมุทิตาควรเสพได้  พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า[10]
โสมนัสมีอย่างนี้เป็นรูป  อันผู้บำเพ็ญมุทิตาภาวนาไม่ความเสพ  อธิบายว่าโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะเป็นรูป  อันผู้บำเพ็ญภาวนาควรเสพ
ความแตกต่างกันระหว่างมุทิตาและโสมนัสที่อาศัยกิเลสนั้น  อธิบายเพิ่มเติมได้ว่ามุทิตานั้นมีเหตุเกิดมาจากมากุศล  คือความพลอยยินดีต่อผู้ที่ประสบความกับสิ่งที่ดีงาม  โดยไม่เกี่ยวกับบุคคลผู้นั้นจะเป็นที่รักหรือที่ชังแต่ประการใด  ย่อมเป็นไปเสมอเหมือนกันคือพลอยยินดีไปกับคนทุกคนด้วยกันทั้งนั้น  โดยมิได้คิดมุ่งหวังประโยชน์อันไดจากผู้อื่นเลยสภาพจิตก็มีแต่ความเบิกบาน  แจ่มใส  ชื่นชมยินดี
โสมมนัสที่อิงอาศัยมีกิเลสมีเหตุมาจากอกุศล  คือความดีใจความสุขกายสุขใจ  ในเมื่อตนเองได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา  แต่เนื่องจากโสมนัสประเภทนี้มีเหตุเกิดมาจากอกุศล  คือโลภะ  ตนเองเมื่อได้รับสิ่งนี้  ก็จะปรารถนาสิ่งอื่นๆ อีกต่อไป  ไม่มีที่สิ้นสุด  ตามปกติแล้ว  สิ่งที่ผู้คนปรารถนาบางอย่างก็ได้ตามที่หวังโสมนัสก็ย่อมเกิดขึ้น  แต่บางครั้งไม่ได้เป็นเช่นนั้นโทมนัสย่อมเกิดขึ้นแทน  เขาย่อมจะประสบสุขบ้างทุกข์บ้าง  โดยไมมีที่สิ้นสุด
ส่วนโสมนัสที่อิงเนกขัมมะนั้น  เป็นโสมนัสที่ช่วยสนับสนุนให้มุทิตาเกิดขึ้นได้ง่าย  ตั้งมั่นได้เร็ว  และเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้น  ดังนั้นโสมนัสประเภทนี้ผู้บำเพ็ญพึงเพียรเจริญกระทำให้มาก  สมดังพระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่าเป็นโสมนัสที่บำเพ็ญมุทิตาพึงเสพ
ข. ข้าศึกไกลของมุทิตา  ได้แก่อรติ  ซึ่งแปลว่า  “ความไม่ยินดี  ความไมพอใจ”[11]  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสลักษณะของอรติไว้ว่า  ในบรรดาธรรมเหล่านั้น  อรติเป็นไฉน  ความไม่ยินดี...  ในเสนาสนะทั้งหลายที่สงัด  หรือว่าในอธิกุศลอย่างไดอย่างหนึ่ง  นี้เรียกว่า  อรติ[12]
จากข้อความนี้  อรติคือความไม่ยินดี  ซึ่งเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับมุทิตา  เป็นความไม่ยินดีต่อความสำเร็จของผู้อื่นคือเมื่อตนเองรับรู้รับทราบผู้ใดผู้หนึ่งประสบความสำเร็จมีการได้เลื่อนยศเลื่อนตำแห่งเป็นต้น  อาจเนื่องมาจากความคิดว่ามิใช่ญาติพี่น้อง  มิเคยรู้จักกัน  หรือคนที่เป็นศัตรูกันความพลอยยินดีจึงไม่เกิดขึ้น  การกระทำดังกล่าวมานี้มิได้เกิดโทษอันใดต่อตนเองและผู้อื่นก็จริงอยู่  แต่หากมองให้ลึกลงไปจะเห็นได้ว่าทำให้ตนเองเสียประโยชน์  เสียอย่างไร  คือในสถานการณ์ที่ผู้อื่นกำลังมีความสุขความเจริญ  ได้รับคุณงามความดี  หากตนเองเจริญมุทิตาพลอยยินดีไปกับเขาด้วย  สภาพจิตของตนเองก็จะเป็นมหากุศล  เป็นเหตุให้ตนเองพลาดจากการได้มหากุศลจิต  นี้เป็นประการแรก
ความจริงหากตนเองแสดงความพลอยยินดีต่อผู้อื่น  ชื่นชมเขา  เช่นกล่าววาจาว่าจริงหนอ  ถือได้ว่าเป็นการผูกสัมพันธ์ไมตรีอันดีงามต่อกันและกัน  แต่เมื่อไม่กระทำ  ก็ถือว่าขาดมนุษย์สัมพันธ์อันดีงาม  นี้เป็นประการที่สอง
สรุปความได้ว่า  เมื่ออรติเกิดขึ้นแล้ว  ย่อมจะไปขัดขวางกุศลธรรมอื่นๆ ที่ควรจะเกิดขึ้น  ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้  คือเมื่อไม่ยินดีเสียแล้ว  หรือรู้สึกเฉยๆ  ไม่ใยดีเสียแล้วก็มิได้มีความคิดจะกระทำกุศลกรรมอันใดต่อไป  สมดังพระพุทธพจน์ที่ว่า  “อรติคือความไม่ยินดีนี้เป็นนิวรณ์”[13]
มุทิตาพลอยยินดีต่อความสำเร็จของผู้อื่น  ส่วนอรติเป็นความไม่ยินดี  ซึ่งมีสภาพตรงกันข้าม  พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า  “อรติจึงเป็นศัตรูไกลของมุทิตา  เพราะมีสภาวะแตกต่างกัน”[14]  การที่บำเพ็ญมุทิตาแล้ว  อรติจักเกิดขึ้นด้วยนั้น  ย่อมเป็นไปไม่ได้  สมดังพระดำริที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า  ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า  ก็มุทิตาเจโตวิมุตติแลเราเจริญแล้ว  กระทำให้มากแล้ว  มุทิตาเจโตวิมุตตินี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งอรติ
อรตินี้เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับมุทิตา  เมื่อมีอรติก็ถือว่าขาดมุทิตา  แต่เมื่อเจริญมุทิตาก็ได้เชื่อว่าเป็นการละอรติด้วย  สมดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  เพราะอรตินี้เป็นธรรมที่ละได้ด้วยมุทิตา  และพระดำรัสที่ตรัสแก่พระราหุลว่า  ดูกรราหุล  เธอจงเจริญมุทิตาภาวนา  เมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนา  จักละอรติได้แน่แท้

ตารางที่ ๒.๕ ตารางสรุปลักษณะของมุทิตาอัปปมัญญา
ลักษณะ
ความบันเทิงใจในคุณความดี ทรัพย์ บริวาร ความสุขของผู้อื่น
กิจ
มีการไม่ริษยาในคุณความดี ทรัพย์ บริวารความสุขของผู้อื่นเป็นกิจ
ประโยชน์
ทำลายความริษยา เป็นอาการที่ปรากฎ
เหตุใกล้
มีการรู้เห็นความเจริญ คุณความดี ทรัพย์ บริวารความสุขของผู้อื่น
การถึงพร้อม
ความสงบจากความไม่พอใจในสมบัติของผู้อื่น เป็นความสมบูรณ์ของมุทิตา
ความเสื่อมเสีย
ความสุข รื่นเริง โอ้อวด กำหนัดเกิดขึ้นเป็นความเสื่อมเสียของกรุณา
ข้าศึกใกล้
ความดีใจที่เนื่องด้วยกามคุณอารมณ์ เป็นข้าศึกใกล้ของเมตตา
ข้าศึกไกล
ความไม่ยินดี ม่สบายใจในความเจริญของผู้อื่น เป็นข้าศึกไกลของเมตตา


ตารางที่ ๒.๖ ตารางสรุปมุทิตาอัปปมัญญา อย่างแท้ อย่างเทียม
พรหมวิหาร
อย่างแท้
อย่างเทียม
๓.มุทิตา
องค์ธรรมคือ มุทิตาเจตสิก
มีสุขิตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์
สุขิตตสัตวบัญญัติมี ๒ อย่าง
๑.พวกที่กำลังจะได้รับความสุขหรือจะได้รับในภายหน้า
๒.พวกที่กำลังทุกข์แต่อดีตเคยมีความสุข
องค์ธรรม คือ โลภมูล โสมนัสจิตตุปบาท
มีความละเอียดกว่าตัณหาเปมะ มีสภาพ
การยึดในบุคคลที่รัก เมื่อได้ลาภ ยศ ฯลฯ

วิธีเจริญมุทิตา
ผู้ปฏิบัติที่มีความประสงค์จะเจริญมุทิตานั้น  ประการแรกพึงเตรียมทำบุพกิจเบื้องต้น ให้เสร็จสิ้นก่อน นับตั้งแต่ตัดปลิโพธความกังวล ๑๐ ประการ เพื่อตัดความกังวลในเรื่องราว ต่าง ๆ จนถึงไปนั่งในที่สงัดตามสมควร
อันดับแรก  ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาให้เห็นโทษของอรติคือความไม่ยินดีต่อคุณงามความดีของผู้อื่น และอานิสงส์ของมุทิตาเสียก่อนกล่าวคืออรติเป็นอกุศลธรรม  มีสภาพไม่พอใจ   ไม่ยินดีด้วย   เป็นเหตุทำให้มีจิตใจเศร้าหมอง   เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมจะทำลายกุศลธรรม ให้สิ้นไป ย่อมจะไปขัดขวางกุศลธรรมอื่น ๆ มิให้เกิดขึ้น และย่อมจะเป็นเหตุใกล้ให้อกุศลธรรมอื่น ๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นได้โอกาสเกิดขึ้นอีกด้วย
            เมื่อผู้ปฏิบัติได้พิจารณาเห็นโทษของอรติแล้ว  พึงพิจารณาถึงอานิสงส์ของมุทิตาคือ  ความพลอยยินดีต่อคุณงามความดีของผู้อื่น มีการได้ยศได้ตำแหน่งเป็นต้น              อานิสงส์ของมุทิตามี ๑๑ ประการมีหลับเป็นสุขเป็นต้นเหมือนกันกับอานิสงส์ของเมตตาทุกประการ   ผู้ปฏิบัติเมื่อได้เห็นโทษของอรติและอานิสงส์ของมุทิตาอย่างเด่นชัดแล้ว ต้องทำความเข้าใจต่อ   บุคคลที่จะเจริญมุทิตาไปถึง ในหนังสือพระอภิธรรมกล่าวไว้ว่า มุทิตามีสุขิตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์  คือผู้ปฏิบัติจำต้องเจริญมุทิตาไปยังบุคคลผู้เป็นสุข ดังนั้นเมื่อเริ่มเจริญจำต้อง รู้จักบุคคลที่เป็นโทษ บุคคลที่ไม่ควรเจริญมุทิตาเป็นอันดับแรก และบุคคลที่ควรเจริญมุทิตา เป็นอันดับแรกก่อน



บุคคลที่เป็นโทษต่อการเจริญมุทิตา มี  ๕ จำพวก แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
กลุ่มที่ ๑  บุคคลที่ไม่ควรเจริญมุทิตาไปเป็นอันดับแรก ๓ จำพวก คือ
              ๑. ปิยปุคฺคโล   บุคคลทื่เป็นที่รัก
            ๒. มชฺฌตฺโต      บุคคลที่เป็นกลาง ๆ ไม่รักไม่ชัง
            ๓. เวรีปคฺคโล     บุคคลที่เป็นคู่เวรกัน
ในบุคคลทั้ง ๓ จำพวกนี้ ผู้ปฏิบัติไม่ควรเจริญมุทิตาไปเป็นอันดับแรก เพราะบุคคลผู้เป็นที่รักนั้นก็ไม่เป็นบรรทัดฐานพอที่จะให้มุทิตาเกิดขึ้นได้ในอันดับแรก   เนื่องจากเป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะเป็นที่รักกันอย่างธรรมดาแต่ขาดคุณสมบัติพิเศษประจำตัว เช่น ความเป็นผู้มีหน้าตาเบิกบาน   ความเป็นผู้ฉลาดในการทักทายปราศรัย ความเป็นผู้พูดจา ไพเราะ มีมรรยาทงดงามอ่อนโยน   และความสนุกสนานร่าเริงเป็นคน   อันเป็นผลสำเร็จมา  ด้วยปฏิสนธิวิญญาณที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา คนผู้ขาดคุณสมบัติประจำตัว  เช่นที่กล่าว มานี            แม้จะนับเนื่องอยู่ในจำพวกคนที่รักนับถือกันก็ตามก็ไม่ท้อที่จะเป็นเหตุให้มุทิตาเกิดขึ้นในอันดับแรกได้ บุคคลที่เป็นกลาง ๆ และบุคคลผู้เป็นศัตรู ยิ่งห่างไกลจากความเป็น บรรทัดฐานแห่งมุทิตาภาวนาอันดับแรกมาก ดังนั้นท่านจึงห้ามมิให้เจริญมุทิตาไปในบุคคล  ๓ จำพวกนี้เป็นอันดับแรก
กลุ่มที่ ๒  บุคคลที่ไม่ควรเจริญมุทิตาไปให้มี ๒ จำพวกคือ
๑. ลิงฺคสภาคปุคฺคโล   บุคคลที่ห้ามเจริญมุทิตาโดยเจาะจง คือบุคคลที่ต่างเพศกัน
๒. กาลกตปคฺคโล            บุคคลที่เจริญมุทิตาไปให้ไม่ได้เลย คือคนที่ตายแล้ว
บุคคลทั้ง ๒  จำพวกนี้ไม่เป็นเขตที่ควรจะนำมาเจริญเป็นอารมณ์ของมุทิต กรรมฐาน คือประเภทที่ ๑ หากเมื่อเจริญมุทิตาไปถึงแล้วราคะไม่เกิด ก็เจริญไปได้ เช่น เจริญมุทิตาไปยังพ่อแม่ พี่น้องชาย พี่น้องหญิงเป็นตน แต่หากเมื่อเจริญไปแล้วราคะเกิดขึ้นก็ไม่ควรเจริญ ดังนั้นผู้ปฏิบัติต้องคอยระมัดระวังให้มาก สำหรับประเภทที่ ๒ ไม่ใช่เขตที่จะเจริญมุทิตาไปได้  โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในเมตตาภาวนา
ลำดับบุคคลที่ควรเจริญมุทิตา
เมื่อผู้ปฏิบัติทราบถึงโทษของอรติและอานิสงส์ของมุทิตา      ตลอดจนถึงบุคคลที่เป็นโทษต่อการ  เจริญมุทิตาแล้ว ลำดับต่อไปพึงทราบถึงลำดับบุคคลที่ควรเจริญมุทิตาไป ซึ่งมี ลำดับบุคคล ดังต่อไปนี้
ลำดับที่ ๑ การเจริญมุทิตาไปในตนเอง
ลำดับที่ ๒ การเจริญมุทิตาไปในบุคคลผู้เป็นที่รัก
ลำดับที่ ๓ การเจริญมุทิตาไปในบุคคลผู้เป็นกลาง ๆ
ลำดับที่ ๔ การเจริญมุทิตาไปในบุคคลผู้เป็นศัตรูต่อกัน
ลำดับที่๑  การเจริญมุทิตาไปในตนเอง
ในลำดับแห่งการเริ่มเจริญมุทิตานั้น ผู้ปฏิบัติพึงเจริญไปในตนเองเป็นอันดับแรกก่อน   ด้วยการภาวนาซ้ำแล้วซ้ำอีก ร้อยครั้ง พันครั้ง จนกว่าจิตจะประกอบด้วยมุทิตา กลายเป็นจิตที่อ่อน ควรแก่การงาน เพื่อประโยชน์จะได้เป็นสักขีพยานแก่การเจริญไปยัง บุคคลอื่น ๆ ได้เพราะความมุทิตาสิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่ากับความมุทิตาตนเองนั้นไม่มี เมื่อทำการ เจริญมุทิตาแก่ตนก่อนอยู่เสมอ ๆ แล้ว ความพลอยยินดีต่อคุณงามความดี ความประสบผลสำเร็จของคนเอง    ความหวังดีความชื่นชมยินดีที่มีประจำใจอยู่นั้น ย่อมเกิดขึ้นเป็นพิเศษ แล้วก็นึกเปรียบเทียบไปในสัตว์ทั้งหลายว่า ล้วนมีความปรารถนาเช่นเดียวกันกับตนทุกประการ   อย่างนี้เป็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้มุทิตาจิตเกิดขึ้นได้ง่าย และตั้งอยู่อย่างมั่นคง  ตลอดจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยการบรรลุอุปจารสมาธิได้  ด้วยการภาวนาอย่างนี้บ่อย ๆ ว่า
โมทามิ วตายํ อหํ   อโห   สาธุ   อโห   สุฏฐุ
เรานี้ร่าเริงจริงหนอ, ช่างจริงหนอ, ช่างดีจริงหนอ
            อหํ   ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต  มา  วิคจฺฉามิ
            ขอเรานี้ จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
            สพฺเพ สตฺตา (มยํ) ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
            ขอพวกเราทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
ด้วยภาวนาวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ปฎิบัติจงพยายามภาวนาเนื่องนิตย์คือส่งจิตอันประกอบดัวยมุทิตาไปพร้อมกับบทภาวนานั้น ๆ อย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนให้มุทิตาปรากฏขึ้น ในจิตใจอย่างเด่นชัด
ลำดับที่    การเจริญมุทิตาไปยังบุคคลผู้เป็นที่รัก
เมื่อผู้ปฎิบัติได้เจริญมุทิตาไปในคน ทำจิตให้อ่อน ควรแก่การงาน เพื่อให้สำเร็จ   เป็นสักขีพยานเป็นอันดับแรก  ลำดับต้องไปพึงเจริญมุทิตาไปในบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งเป็น บุคคลประเภทที่ผู้ปฎิบัติสามารถเจริญมุทิตาให้เป็นไปได้ง่าย สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ไว้ไนคัมภีร์วิภังค์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้มีจิตประกอบด้วยมุทิตาย่อมแผ่มุทิตาจิตไปทางทิศหนึ่งอยู่นั่น คือทำอย่างไร ภิกษุผู้มีจิตประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปยังสัตว์ทั้งปวงทุกจำพวก   เหมือนอย่างที่ได้เห็นคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่รักใคร่ เป็นที่เจริญใจแล้วพึงพลอยอนุโมทนายินดีด้วย ฉะนั้น
ในการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาเลือกเอาเพื่อนที่รักมาก จัดเป็นบุคคลที่เป็นบรรทัดฐานพอที่จะให้มุทิตาเกิดขึ้นได้โดยง่าย   หรือคนประเภทที่ท่านอรรถกถาจารย์เรียกว่า เพื่อนใจนักเลง ซึ่งเป็นผู้มีอัธยาศัยชอบสนุกร่าเริงยิ้มก่อนพูดเสมอ   นับเป็นบุคคลที่ควรเจริญมุทิตาไปถึงก่อน กล่าวคือผู้ปฏิบัติได้เห็นก็ดีได้ทราบข่าวก็ดี   ถึงการกระทำคุณงามความดี   การประสบผลสำเร็จอันเป็นเหตุให้เกิดความสุข ความรื่นเริงยินดี ความชื่นชมยินดี และอันเป็นเหตุใกล้คือ  การให้เกิดมุทิตาแล้ว พึงเจริญมุทิตาไปด้วยการภาวนาว่า 
โมทติ วตายํ   ปิยปุคุคโล อโห สาธุ, อโห สุฎธฺ
บุคคลผู้เป็นที่รักนี้ร่าเริงจริงหนอ,  ดีจริงหนอ, ช่างดีจริงหนอ
อยํ ปิยปุคฺคโล ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต  มา  วิคจฺฉตฺ
ขอบุคคลผู้เป็นที่รักนี้ จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
เอเต ปิยปุคฺคลา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต  มา   วิคจฺฉนฺตุ
ขอบุคคลผู้เป็นที่รักเหล่านี้ จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
ผู้ปฏิบัติพึงนึกภาวนาในใจไปตามบทภาวนานี้อย่างครั้งแล้ว ๆครั้ง เล่า ๆร้อยครั้ง พันครั้ง จนมุทิตาจะปรากฏชัดขึ้นในใจ ได้บรรลุถึงขั้นอุปจารสมาธิและอัปปนา
ลำดับที่ ๓ การเจริญมุทิตาไปในบุคคลผู้เป็นกลางๆ
เมื่อผู้ปฏิบัติได้เจริญมุทิตาไปในบุคคลผู้เป็นที่รักเช่นนั้นแล้ว  โดยภาวนาวิธีดังแสดงมาอย่างนั้น ย่อมสามารถบรรลุอัปปนา ต่อจากนั้นพึงเจริญกรุณาในบุคคลผู้เป็นกลาง ๆ ต่อไป
ในการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาถึงความสุขความเจริญรุ่งเรืองของบุคคลผู้เป็นกลาง ๆ สมดังพระพิมลธรรมกล่าวไว้ว่า  พึงเลือกยกเอาส่วนแห่งความรื่นเริงบันเทิง ความสมบูรณ์พูนสุขมีเครื่องบำรุงบำเรออย่างเพียบพร้อมของบุคคลผู้เป็นกลาง ๆ ซึ่งปรากฏเห็น อยู่ในชาติปัจจุบันหรือที่จะเกิดมีแก่เขาในชาติต่อ ๆ ไป  เมื่อได้ระลึกถึงความรื่นเริงบันเทิง   เป็นต้นอันเป็นเหตุให้เกิดมุทิตาจิตคือความพลอยยินดี   ความชื่นชมยินดี และอันเป็นเหตุใกล้ต่อ การให้เกิดมุทิตาได้แล้ว พึงเจริญมุทิตาไปด้วยการภาวนาว่า
 โมทติ วตายํ มชฺฌตฺโต อโห สาธุ, อโห สุฏฺฐฺ
บุคคลผู้เป็นกลาง ๆ นี้ร่าเริงจริงหนอ, ดีจริงหนอ, ช่างดีจริงหนอ
อยํ มชฺฌตฺโต ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต   มา วิคจฺฉตุ
ขอบุคคลผู้เป็นกลาง ๆ นี้ จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
อเต มชฺฌตฺตา ยถาลทฺธสมปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอบุคคลผู้เป็นกลาง ๆ เหล่านี้ จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
ผู้ปฏิบัติพึงเพียรพยายามภาวนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ร้อยครั้ง พันครั้ง จนกว่าจิตจะเป็นสมาธิอันประกอบด้วยกรุณา หรือจนกว่าจะบรรลุอัปปนา คือกรุณาฌานจะบังเกิดขึ้น
ลำดับที่ ๔ การเจริญมุทิตาไปในบุคคลผู้เป็นศัตรูต่อกัน
ผู้ปฏิบัติเมื่อเจริญมุทิตาไปในบุคคลที่เป็นกลาง ๆ แล้วย่อมสามารถบรรลุอัปปนาได้แต่ผู้ปฏิบัติไม่ควรพอใจหยุดอยู่ เพราะเหตุที่ได้บรรลุความสำเร็จเพียงเท่านี้ พึงขวนขวาย เจริญมุทิตาไปในบุคคลที่เป็นศัตรูต่อไป
ในการปฏิบัติ เมื่อผู้ปฏิบัติได้สำเร็จถึงขั้นอัปปนาแล้ว ทำจิตนั้นให้อ่อน ควรแก่การงานแล้วข่มจิตที่มีภาวะพลอยยินดีมาก ความชื่นชมมากในบุคคลที่เป็นกลาง ๆ นั้นให้ลดลงมาตั้งอยู่ในภาวะที่เป็นความพลอยยินดีอย่างธรรมคา    เพียรเจริญมุทิตาไปในบุคคลที่เป็นศัตรูต่อไป เพื่อให้ความรู้สึกที่เป็นศัตรูต่อกันเลือนหายกลายเป็นภาวะจิตที่เป็นกลาง ๆ แล้วจึงยกจิตขึ้นสู่ภาวะจิตที่มีความพลอยยินดีธรรมดาสามัญ     ต่อจากนั้นพยายามพัฒนาจิต  เจริญมุทิตาไปยังคนที่เป็นศัตรูต่อกัน โดยพิจารณาเอาส่วนแห่งความรื่นเริงบันเทิงใจของบุคคลผู้เป็นศัตรู ที่ปรากฏเห็นอยู่ในชาติปัจจุบันหรือที่จะเกิดมีแก่เขาในชาติต่อ ๆ ไป แล้ว จึงเจริญมุทิตาไปด้วยการภาวนาว่า
โมทติ วคายํ   เวรีปุคฺคโล   อโห สาธุ  , อโห   สุฎฐุ
บุคคลผู้เป็นศัตรูนี้ร่าเริงจริงหนอ,ดีจริงหนอ,ช่างดีจริงหนอ
อยํ  เวรีปุคฺคโล ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉตุ
            ขอบุคคลผู้เป็นศัตรูนี้ จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
เอเต เวรีปุคฺคลา ยถาลทฺธสมปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
            ขอบุคคลผู้เป็นศัตรูเหล่านี้ จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
            ผู้ปฏิบัติพึงเพียรพยายามภาวนาซ้ำเเล้วซ้ำเล่า  ร้อยครั้งพันครั้ง  จนกว่าจิตจะเป็น สมาธิอันประกอบด้วยมุทิตา   หรือจนกว่าจะบรรลุอัปปนา คือมุทิตาบังเกิดขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติ กระทำได้ดังกล่าวมาแล้ว ถือได้ว่าเป็นผู้กระทำกรรมที่บุคคลกระทำได้โดยยากยิ่งการเจริญ มุทิตาไปในบุคคลผู้เป็นศัตรูนั้น ถ้าความโกรธเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติพึงฟ้าการบรรเทาความโกรธแค้นนั้นให้ระงับลงด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ เช่นต้องหวนกลับไปเจริญกรรมฐานในบุคคลจำพวกต้น ๆ หรือพิจารณาถึงพระพุทธโอวาทต่าง ๆ ตามนัยที่กล่าวแล้วในเมตตาภาวนา
            ส่วนผู้ปฎิบัติที่ไม่มีคนคู่เวร หรือผู้ไม่มีความผูกเวรกับใคร ทั้ง ๆ ที่มีคนทำความ เสียหายให้ เพราะเป็นชาติเชื้อมหาบุรุษมีอัธยาศัยอันกว้างใหญ่นั้น ไม่จำต้องทำความขวนขวายในกรณีที่ว่า จิตของเราอ่อนควรแก่การงานแล้ว บัดนี้ เราจักส่งมุทิตาจิตไปใน บุคคลผู้เป็นศัตรู    เพราะกรณีที่จะต้องปฏิบัติเช่นนั้น    เฉพาะแต่ผู้ปฏิบัติผู้มีศัตรูเท่านั้น
เจริญมุทิตาไปในบุคคลผู้เป็นที่รักซึ่งกำลังตกยาก
            การเจริญมุทิตาที่แสดงมาแล้วนั้น เป็นการเจริญไปในคนผู้รื่นเริงบันเทิงในชาติปัจจุบัน   ลำดับต่อไปจะแสดงการเจริญมุทิตาไปในผู้กำลังตกทุกข์ได้ยาก   โดยการพิจารณาถึงความรื่นเริงบันเทิงในอดีตหรือความรื่นเริงบันเทิงซึ่งเขาจะได้รับในอนาคตกาล
ผู้ปฏิบัติเมื่อจะเจริญมุทิตาไปยังบุคคลผู้เป็นที่รักนั้นซึ่งปรากฏในอดีตว่า    เมื่อก่อนเขาเป็นคนมีความสุขความเจริญ   แต่มาบัดนี้ได้เป็นคนยากจนเข็ญใจ และทำชั่วขึ้นเช่นนี้ พึงเจริญมุทิตาภาวนาไปยังเขาโดยระลึกถึงสภาพที่เขาเคยมีความสมบูรณ์พูนสุขในอดีตนั้นขึ้นมา   พิจารณาว่าคนผู้นี้เมื่อครั้งอดีตเขาได้เคยเป็นคนร่ำรวยมีบริวารมาก   เป็นคนชอบสนุกสนาน ร่าเริงเสมอเป็นนิจ แล้วพึงเจริญมุทิตาไป  อนึ่งพึงยกเอาแม้อาการที่เขาจะพึงสนุกร่าเริงต่อไป  ในภายหน้าขึ้นมาพิจารณาว่า ชีวิตในอนาคตของผู้นี้   เขาจักได้สมบัตินั้นกลับคนมาอีก  เพราะเขาได้ทำกรรมดีไว้มากแล้วพึงเจริญมุทิตาไป
วิธีเจริญมุทิตาสีมสัมเภท
เมื่อผู้ปฏิบัติได้พยายามบรรเทาความโกรธแค้นในศัตรูให้ระงับลงได้แล้วด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ จิตของผู้ปฏิบัตินั้นก็จะแผ่ไปน้อมไปแม้ในศัตรูคู่เวรนั้นเช่นเดียวกับใน บุคคลผู้เป็นที่รักเป็นต้น   ผู้ปฏิบัติพึงเจริญมุทิตาให้บ่อยยิ่งขึ้น  แล้วทำมุทิตาให้เป็นสีมสัมเภท   กล่าวคือทำให้จิตเสมอกันในบุคคล ๔ จำพวก คือ ๑. ตนเอง ๒. บุคคลผู้เป็นที่รัก   ๓. บุคคลผู้เป็นกลาง ๆ   ๔. บุคคลผู้เป็นศัตรูต่อกัน
คำว่า สีมสัมเภทหมายถึงการทำลายขอบเขตแห่งมุทิตาคือไม่ทำการแบ่งแยกว่าตน, บุคคลผู้เป็นที่รัก, บุคคลผู้เป็นกลาง ๆ และบุคคลผู้เป็นศัตรูกัน    เนื่องจากคน  ๔ จำพวกนี้เป็นสีมาคือเขตแดนที่จะแผ่มุทิตาตาไปถึง   เมื่อแรกเจริญมุทิตานั้นก็เจริญไปทีละเขต ๆ ครั้นภาวนามีกำลังกล้าขึ้น จิตก็เห็นเสมอในคน  ๔ จำพวกนี้ ไม่มีการแยกเป็นเราเป็นเขาคงนี้เรียกว่า สีมสัมเภท เหมือนดังกล่าวแล้วในเมตตาภาวนา
            เจริญมุทิตาบรรลุถึงขั้นปฐมฌานเมื่อผู้ปฏิบัติเจริญบุมุทิตากรรมฐานถึงขึ้นสีมสัมเภทแล้ว ต่อจากนั้นจงทำสีมสัมเภท ไห้เป็นนิมิตกรรมฐาน แล้วพยายามส้องเสพนิมิตนั้นให้มากขึ้น   ทำไห้เจริญขึ้น เพียรทำให้ มากยิ่งขึ้น ผู้ปฏิบัติก็จะสามารถบรรลุถึงอัปปนาสมาธิอันได้แก่ปฐมฌาน ซึ่งเป็นฌานขึ้นแรก   โดยไม่ลำบาก ด้วยภาวนาวิธีเพียงเท่านี้ผู้ปฎิบัติมุทิตากรรมฐานได้บรรลุปฐมฌานซึ่งประกอบด้วยมุทิตา
มุทิตาฌานและความเกิดขึ้นแห่งมุทิตาฌาน
คำว่ามุทิตาฌาน   หมายถึงฌานที่ปรากฏขึ้นด้วยการเจริญมุทิตา ผลของฌานนั้นคือ ได้รับความสงบแห่งจิตใจ    เหมือนกับการเจริญกรรมฐานอื่น ๆ แต่ผลลักษณะพิเศษของ   มุทิตาภาวนานี้คือสภาพจิตที่ประกอบด้วยมุทิตา ความพลอยยินดี ความชื่นชมยินดีต่อคุณงามความดีของผู้อื่นที่แผ่ไปยังสัพพสัตว์ทุกหมู่เหล่า  ทุกทิศ  ทุกสถานที่นี้เรียกว่ามุทิตาฌาน   และบุคคลผู้ได้มุทิตาฌานนี้  พระผู้มีพระภาคเข้าทรงตรัสรับรองไว้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคล  ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกนี้เป็นไฉน  ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้มีใจประกอบด้วยมุทิตา     เมื่อทำกาละย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นพรหมกายิกา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวก เป็นไฉน    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่   เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุทธาวาส
การเจริญมุทิตาตามแนวจตุกกนัยและปัญจกนัย
เมื่อผู้ปฏิบัติได้บรรลุถึงขั้นปฐมฌาน เป็นฌานลาภีบุคคลแล้ว  เมื่อเธอพยายาม เจริญกรรมฐานให้ยิ่งขึ้นไป โดยใช้นิมิตคือสีมสัมเภทเป็นอารมณ์กรรมฐาน  ส้องเสพนิมิต นั้นให้มากขึ้น   ทำให้เจริญขึ้น  เพียรทำให้มากยิ่งขึ้นก็จะได้บรรลุถึงฌานขันสูงขึ้นไปโดยลำดับกล่าวคือ   ถ้าเป็นฌานจตุกกนัย ก็จะได้บรรลุตติยฌานเป็นขั้นสุดท้าย ไม่ถึงขั้นจตุตถฌาน ถ้าเป็นฌานปัญจกนัย ก็จะได้บรรลุจตุตถฌานเป็นขั้นสุดท้าย ไม่ถึงขั้นปัญจมฌานเพราะเหตุที่จตุถถฌานโดยจตุกกนัยและปัญจกฌานโดยปัญจกนัย   มีองค์ฌานเป็นอุเบกขา  เวทนา มุทิตานั้นเป็นฝักฝ่ายแห่งโสมนัสเวทนา ดังนั้นมุทิตาภาวนาจึงไม่สามารถที่จะให้ บรรลุลงจตุตถฌานโดยจตุกกนัยหรือปัญจกฌานโดยปัญจกนัยได้
วิธีแผ่มุทิตาและคำแผ่มุทิตา
  วิธีแผ่มุทิตามี   ๓ วิธีคือ ๑. อโนธิโสผรณา  ๒. โอธิโสผรณา ๓. ทิสาผรณา       มีอรรถาธิบายโดยสังเขปดังนี้
๑. อโนธิโสผรณา   แผ่ไปโดยไม่เจาะจง  คือแผ่ไปในสัตว์ ปาณะ ภูติ บุคคล และผู้มีอัตตภาพ
๒. โอธิโสผรณา   แผ่ไปโดยเจาะจง  คือแผ่ไปในสตรี   บุรุษ   พระอริยเจ้า   อนริยชน    เทวดา มนุษย์ และสัตว์วินิปาติกะ
๓. ทิสาผรณา แผ่ไปในทิศ คือแผ่ไปในสัตว์ ปาณะะ   ภูต บุคคล   ผู้มีอัตภาพ   สตรี บุรุษ พระอริยเจ้า อนริยชน   เทวดา   มนุษย์ และสัตว์วินิปาติกะ ในทิศทั้ง ๑๐ คือ ทิศตะวันออก ทิศคะวันตก ทิศเหนือ ทิศไต้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตก เฉียงใต้ ทิศคะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศเบื้องล่าง และทิศเบื้องบน
วิธีแผ่มุทิตา ๓ อย่างที่กล่าวมาแล้ว มีสารัตถะสำคัญและรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้
 ๑. อโนธิโสผรณา  การแผ่มุทิตาโดยไม่เจาะจง โดยอาการ 
            ๑.๑ สพฺเพ  สตฺตา  ยถาลทฺธสมฺปตฺโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ
                        ขอสัตว์ทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
                        ๑.๒ สพฺเพ  ปาณา  ยถาลทฺธสมฺปตฺโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ
                        ขอปาณะทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
                        ๑.๓ สพฺเพ  ภูตา  ยถาลทฺธสมฺปตฺโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ
                        ขอภูตทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
                        ๑.๔ สพฺเพ  ปุคฺคลา  ยถาลทฺธสมฺปตฺโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ
                        ขอบุคคลทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
                        ๑.๕ สพฺเพ อตฺตภาวปริยาปนฺนา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
                        ขอผู้มีอัตตภาพทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
                        ๒. โอธิโสผรณา  การแผ่มุทิตาโดยเจาะจง โดยอาการ ๗
            ๒.๑ สพฺพา อิตฺถิโย ยถาลทฺธสมปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
                        ขอสตรีทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
                        ๒.๒ สพเพ ปุริสา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตฺ
                        ขอบุรุษทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย   
               ๒.๓ สพฺเพ อริยา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
                        ขอพระอริยเจ้าทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
                        ๒.๔ สพฺเพ อนริยา ยลาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
                        ขอปุถุชนทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
                        ๒.๕ สพฺเพ   เทวา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
                        ขอเทวดาทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
                        ๒.๖ สพฺเพ มนุสฺสา ยลาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
                        ขอมนุษย์ทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
                        ๒.๗ สพฺเพ วินิปาติกา ยลาลทฺสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
                        ขอพวกวินิปาติกะทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัตที่ได้แล้วเลย
            ๓. ทิสาผรณา  การแผ่เมตตาไปในทิศ  โดยอาการ  ๑๐
แผ่มุทิตาไปในทิศนั้น คือยกเอา อโนธิโสบุคคล ๕ จำพวก โอธิโสบุคคล ๗ จำพวก รวมเป็น ๑๒ บุคคลไปตั้งไว้ในทิศทั้ง ๑๐ แล้วแผ่มุทิตาไปในบุคคล ๑๒ จำพวกที่อยู่ในทิศทั้ง ๑๐ นั้นจึงเรียกว่าแผ่ไปในทิศ โดยอาการแห่งภาวนา ๑๐ อาการ เมื่อ ว่าโดยบุคคลเป็น ๑๐ วาระ ตัวอย่างดังต่อไปนี้
๓.๑ สพฺเพ  ปุรตฺถิมาย  ทิสาย  สตฺตา  ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ
                         ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศบุรพา จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
                        ๓.๒  สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย   สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศประจิม จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
๓.๓ สพฺเพ  อุตฺราย  ทิสาย  สตฺตา  ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศอุดร จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
๓.๔ สพฺเพ  ทกฺขินาย  ทิสาย  สตฺตา  ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศทักษิณ จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
๓.๕ สพฺเพ  ปุรตฺถิมาย  อนุทิสาย  สตฺตา  ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศอาคเนย์ จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
๓.๖ สพฺเพ  ปจฺฉิมาย  อนุทิสาย  สตฺตา  ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศพายัพ จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
๓.๗ สพฺเพ  อุตฺตราย    อนุทิสาย  สตฺตา  ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศอีสาน จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
๓.๘ สพฺเพ  ทกฺขินาย  อนุทิสาย  สตฺตา  ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศหรดี จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
๓.๙ สพฺเพ  เหฏฺฐิมาย  อนุทิสาย  สตฺตา  ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศเบื้องล่าง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
 ๓.๑๐. สพฺเพ  อุปริมาย  อนุทิสาย  สตฺตา  ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศเบื้องบน จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
            ส่วนคำแผ่มุทิตาไปในทิศโดยอาการ ๑๐ในบุคคลอีก ๑๑จำพวกคือตั้งแต่จำพวกที่ ๒สพฺเพ  ปาณา จนถึงจำพวกที่ ๑๒ สพฺเพวินิปาติกานั้นผู้ปฏิบัติจงนำมาประกอบเรื่องโดยทำนองเดียวกับบุคคลที่ ๑  ต่างแต่ต้องยกเอาบุคคลนั้น ๆ มาประกอบแทนตรงที่ว่า สตฺตา ในคำบาลี ตรงที่ว่า สัตว์ ในคำภาษาไทยเท่านั้นโดยว่า เรียงลำดับดังต่อไปนี้ 
๑. สตฺตา, ๒.ปาณา, ๓. ภูตา, ๔. ปุคฺคลา, ๕. อคฺตภาวปริขาปนฺนา,  ๖. อิตฺถิโย  ๗. ปุริสา, ๘. อริยา,  ๙. อนริ,  ๑๐. เทวา, ๑๑. มนุสฺสา, ๑๒. วินิปาติกา



[1] พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน,  พ.ศ. ๒๕๒๕, พิมพ์ครั้งที่ ๕, อ้างแล้ว, หน้า ๖๕๒
[2] หลวงเทพดรุณานุศิษฎ์ (ทวี ธรมธัช ป.๙),  ธาตุปทีปิกา,  อ้างแล้ว,  หน้า ๒๙๗.
[3] อภิ.วิ. ๓๕ / ๗๔๖ / ๓๗๓
[4] สทฺ.  ปกา. ๑ / ๑๒๘/๑๑๗;  อฏฺฐสา. ๔๒๘/๒๔๗;  วิสุทฺธ. ๒/๑๒๓
[5] พระอุปติสสเถระ, วิมุตติมรรค, อ้างแล้ว, หน้า ๑๘๑.
[6] พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน,  พ.ศ. ๒๕๒๕, พิมพ์ครั้งที่ ๕, อ้างแล้ว, หน้า ๑๘๑.
[7] อภิ.วิ. ๖๘๑/๓๕๒.
[8] อภิ.วิภา. หน้า  ๑๑๗.
[9] ม.อุป. ๑๔ / ๖๒๕ / ๔๐๒.
[10] อฏฺฐสา. ๔๒๘ / ๒๔๘;  วิสุทฺธิ.  ๒ / ๑๒๔-๑๒๕
[11]พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.  ๒๕๒๕.  อ้างแล้ว,  หน้า  ๙๒๐
[12] อภิ.วิ. ๓๕/๘๗๓/๔๗๔; ๙๕๐/๔๙๘.
[13] ขุ.ปฏิ.  ๓๑ / ๓๖๓ / ๒๔๔
[14] อฏฺฐสา. ๔๒๘ / ๒๔๘-๒๔๙;            วิสุทฺธิ. ๒ / ๑๒๔-๑๒๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น