วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ความหมายและการเจริญกรุณา



๒.๒.๒ ความหมายของคำว่ากรุณา
          คำว่า กรุณา เป็นคำในภาษาบาลี  แปลว่า  ความสงสาร  กิริยาที่สงสาร  ความสงสารในสัตว์ทั้งหลาย  แยกศัพท์ได้ดังนี้  กร  ธาตุในความหมายว่า  กรณ  (กระทำ)  ลง ยุ  ปัจจัย ในกริยากิตก์ในรูปอิตถีลิงค์เป็น  อา  อีกอย่างหนึ่ง  กํ  บทหน้า  รุธิ  ธาตุในความหมายว่า  อาวรเณ (ปิดกั้น)  ลง    ปัจจัย ๆ ในกิริยากิตก์ในรูปอิตถีลิงค์เป็นอา[1] 
          มีอรรถวิเคราะห์ตามลำดับดังต่อไปนี้
๑. ปรทุกฺเข  สติ สาธูนํ กมฺปนํ  กโรตีติ  กรุณา  แปลว่าธรรมชาติใดเมื่อความทุกข์ของผู้อื่นมีอยู่  ย่อมทำความหวั่นใจแก่สาธุชนทั้งหลาย  เหตุนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่า  กรุณา  ธรรมชาติผู้ทำความหวั่นใจ
๒. กีณาติ  วา  ปรทุกฺขํ  หึสติ  วินาเสตีติ  กรุณา  แปลว่าธรรมชาติใดย่อมซื้อเอาเสีย  คือเบียดเอาเสียซึ่งความทุกข์ของคนอื่น  คือทำความทุกข์ของผู้อื่นให้หายไปเสีย  เหตุนั้น  ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า  กรุณา  ธรรมชาติผู้ซื้อเอาทุกข์ของผู้อื่น
๓. กีริยติ  ทุกฺขิเตสุ  ผรณาวเสน  ปสาริยตีติ  กรุณา  แปลว่าธรรมชาติใด  อันสาธุชนย่อมเรี่ยรายไป  คือเหยียดออกโดยการแผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายผู้ได้รับทุกข์  เหตุนั้น  ธรรมชาตินั้นชื่อว่ากรุณา  ธรรมชาติที่เขาเรี่ยรายออกไป
๔. อตฺตานมธีนเมตาย  กโรนฺตีติ  กรุณา  แปลว่าว่าความสงสารเป็นธรรมที่บุคคลกระทำกับผู้อาศัยตน  ชื่อว่ากรุณา  และ  กํ สุขํ  รุนฺธตีติ  กรุณา  ความสงสารที่กั้นความสุข  (ของตน)  ไว้ชื่อว่ากรุณา
จากข้อความดังกล่าวมา  กรุณา  หมายถึงความสงสาร  ปรารถนาให้เขาพ้นจากความทุกความเดือดร้อน  ความลำบากต่างๆ  ย่อมเกิดขึ้นแก่สาธุชนคนดี  เมื่อได้ประสบพบเห็นคนหรือสัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งประสบความทุกข์  ความเดือดร้อน  หรือผู้ที่มีชีวิตรุ่งเรืองร่ำรวยแต่มักกระทำความชั่ว  อันเป็นเหตุให้ตนเองได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนในอนาคตซึ่งเป็นเหตุให้สาธุชนเหล่านั้น  ไม่สามารถทนนิ่งเฉยอยู่ได้  มีความรู้สึกหวั่นไหว  เพราะถูกความกรุณากระตุ้นเตือน  ปรารถนาต้องการช่วยเหลือให้เขาเหล่านั้นพ้นจากความทุกข์เป็นต้นที่ได้รับอยู่  หรือจะได้รับในอนาคต
กรุณาดังกล่าวมานี้  สามารถแบ่งได้เป็น    อย่างคือ
          ๑. กรุณาเทียม  หรือกรุณาที่เจือด้วยอกุศลได้แก่กรุณาของผู้ที่ประสงค์จะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์  แล้วได้ลงมือทำการช่วยเหลือ  จะช่วยเหลือเขาได้หรือไม่ได้ก็ตามขณะทำการช่วยเหลือ  มีความลำบากใจกลัวว่าจะช่วยเหลือเขาให้พ้นความทุกข์ยากลำบากไม่ได้  หรือบางครั้งแม้พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว  แต่ก็ช่วยเหลืออะไรไม่ได้เลย  ดังนั้นจึงมีความรู้สึกว่าเสียใจ  เศร้าโศก  เดือดร้อนใจไปกับเขาด้วย  ซึ่งสภาวจิตที่เป็นเช่นนี้เกิดมาจากโทมนัสเวทนาซึ่งเป็นอกุศล  มิใช่เป็นกรุณา  ดังนั้นผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องพัฒนากรุณาเทียมนี้เพื่อให้เป็นกรุณาแท้ต่อไป
๒. กรุณาแท้  หรือกรุณาที่เป็นกุศล  ได้แก่กรุณาของผู้ที่  เมื่อประสบพบเห็นคนที่ได้รับความทุกข์อันเกิดจากหายนะ    หรือผู้ที่ได้รับความทุกข์ในอนาคต  ถูกความกรุณากระตุ้นเตือนได้ช่วยเหลือเขาเหล่านั้นโดยวิธีการต่างๆ ตนเองจะช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ให้พ้นจากความเดือดร้อนได้หรือมิได้ก็ตาม  จิตใจย่อมมีแต่ความเบิกบานแจ่มใส  ไม่ขุ่นข้องหมองใจ  เสียใจ  แม้บางครั้งจะพยายามช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์อย่างเต็มที่แล้ว  แต่ช่วยเหลือเขาไม่ได้เลย  ก็จะไม่มีความรู้สึกเดือดร้อนใจ  โดยคิดเพียงว่าตนเองทำดีที่สุดแล้ว  อันเนื่องมาจากกรุณาที่แท้  ซึ่งเป็นมหากุศล
ฉะนั้น  ผู้ที่มีกรุณาแท้เท่านั้น  ตนเองจึงจะมีความสุขที่แท้จริง  สามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ยากลำบากได้ด้วยและตนเองมิได้ทุกข์ร้อนด้วย  ดังพระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวรว่า  “อันความกรุณานั้นมหัศจรรย์  ความทุกข์ยากเดือดร้อนของตนเอง  แม้มากมายก็จะกลายเป็นเรื่องเล็ก  เมื่อเป็นไปเพื่อให้กรุณาของตนสำฤทธิ์ผล  ได้ช่วยคนอื่นสัตว์อื่นให้เป็นสุข”[2]
สรุปความว่า  กรุณาแท้  เป็นมหากุศลจิตที่ต้องการช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์  โดยตนเองเต็มเปี่ยมไปด้วยสภาพจิตที่เบิกบานแจ่มใส  สดชื่น  ไม่มีความเศร้าโศกเสียใจแต่ประการใดเลย  แม้ว่าตนจะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากทุกข์ได้หรือไม่ก็ตาม  ส่วนกรุณาเทียม  เป็นโทมนัสเวทนา ซึ่งเป็นอกุศลจิต  อันเกิดมาจากการที่ตนต้องการช่วยเขาให้พ้นจากความทุกข์  แต่ช่วยเหลือไม่ได้  ดังนั้นจึงรู้สึกเสียใจ  ความจริง  กรุณาทียมนี้เมื่อเกิดขึ้นครั้งแระก็เป็นมหากุศลจิต  อกุศลจิตคือโทมนัสเวทนาเกิดขึ้นมาแทน  ดังนั้นผู้บำเพ็ญเพียรจำต้องพยายามพัฒนาให้เป็นมหากุศลจิต  ซึ่งเป็นกรุณาแท้ต่อไป

๒.๒.๒.๑  ลักษณะของกรุณา
กรุณา  มีความเป็นไปโดยอาการปลดเปลื้องทุกข์  มีการอดกลั้นไม่ได้ต่อความทุกข์ของผู้อื่นเป็นกิจ  มีการไม่เบียดเบียนเป็นเครื่องปรากฏ  มีการเห็นความเป็นผู้อนาถาของสัตว์ผู้ตกยากเป็นปทัฏฐาน  มีการเข้าไปสงบความเบียดเบียนเป็นสมบัติ  และมีความเกิดความเศร้าโศกเป็นตัววิบัติ[3]
ในคัมภีร์วิมุตติมรรค  ได้อธิบายไว้โดยตั้งเป็นคำถามและแสดงคำตอบของปัญหาไว้ดังนี้

ถาม อะไรคือกรุณา?  อะไรเป็นปัจจุปัฎฐาน?  อะไรเป็นลักษณะ?  อะไรเป็นรส?  และเป็นปทัฎฐานของกรุณา...?
ตอบ เปรียบเหมือนบิดามารดาผู้มองดูบุตรน้อยคนเดียวของตน  รู้สึกสงสาร  กล่าวว่า  เจ้าเป็นทุกข์จริงหนอฉันใด  บุคคลผู้สงสารสรรพสัตว์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน  นี้คือกรุณา  บุคคลย่อมอยู่อย่างมีกรุณาไม่ฟุ้งซ่าน  นี้เรียกว่า  ปัจจุปัฎฐาน  ความไม่ปรากฏสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นลักษณะ  ความสุขเป็นรสความไม่เบียดเบียนเป็นปทัฏฐานของกรุณา...[4]
                   
จากข้อความที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า  กรุณา  หมายถึงความสงสาร  ความมีเยื่อใยใคร่จะช่วยเหลือ  ปรารถนาให้ผู้อื่นตลอดถึงสรรพสัตว์ที่ประสบทุกข์อยู่  พ้นจากความทุกข์และความเดือดร้อนเป็นต้น  ปราศจากเวรภัย  ปราศจากทุกข์โศก  เป็นลักษณะที่เต็มเปี่ยมด้วยไมตรี  มุ่งความปราศจากทุกข์และความเดือดร้อนทั้งปวงเสมอเหมือนกันหมด  กรุณาเป็นกุศลจิต  ซึ่งมักจะเกิดมีขึ้นแก่สาธุชนคนดีงาม  มีลักษณะที่เป็นนามธรรม  และบุคคลสามารถกระทำให้เป็นผลเป็นรูปธรรมได้  ด้วยพฤติกรรมทางกาย  และวาจาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสงสารอยากให้พ้นไปจากทุกข์ต่างๆ และเป็นความปรารถนาดีที่คิดจะช่วยเหลือโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ คุณธรรมข้อนี้ย่อมเกิดขึ้นกับสาธุชนทั่วไป  แต่สำหรับคนชั่วช้าแล้ว  เมื่อเขาเห็นคนอื่นตกทุกข์ได้ยาก  แทนที่จะช่วยเหลือ  แต่ไม่เลยมีแต่จะซ้ำเติม  เช่นเมื่อมีอุบัติเหตุ  คนดีคิดช่วยเหลือ  แต่คนชั่วคิดหยิบฉวยทรัพย์สมบัติของผู้ประสบอุบัติเหตุ

๒.๒.๒.๒ ปฏิปักขธรรมของกรุณา
คำว่า  ปฏิปักษ์  คือสิ่งที่เป็นศัตรูกัน  สิ่งที่ตรงกันข้ามหรือสิ่งที่เป็นอันตราย  ต่อกรุณา  ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องป้องกันมิให้บังเกิดขึ้น  กรุณาเป็นธรรมฝ่ายกุศล  ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับกรุณา  ก็ต้องเป็นธรรมฝ่ายอกุศล  ซึ่งมีอยู่    ประการ  โดยจัดเป็นข้าศึกใกล้อย่างหนึ่งและข้าศึกไกลอย่างหนึ่ง  ดังนี้
ก. ข้าศึกใกล้ของกรุณา  ได้แก่  โทมนัส แปลว่า “ ความทุกข์ใจ  ความเสียใจ”[5]  พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถึงโทมนัสไว้ว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็โทมนัสเป็นอย่างไร  ทุกข์ที่เป็นไปทางใจ  อันไม่แช่มชื่น  ซึ่งเกิดขึ้นโดยการสัมผัสอารมณ์ทางใจ  อันบุคคลเสวยแล้วรู้สึกไม่แช่มชื่น  นี้เรียกว่า  โทมนัส[6]
โทมนัสมีอรรถวิเคราะห์ว่า  “ทุกฺขิโต  มโน  ทุมฺมโน  ทุมฺมนสฺส  ภาโว  โทมนัสฺสํแปลว่า  ใจเป็นทุกข์  ชื่อว่าทุมนะ  ภาวะที่ใจเป็นทุกข์  ชื่อว่าความทุกข์ใจ”  กรุณาและโทมนัสมีลักษณะเข้ากันได้  เพราะมีส่วนของตนเข้ากันได้โดยมองในแง่ของวิบัติของสัตว์ของทั้งหลายเหมือนกัน  คือกรุณามีทุกขิตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์  หมายความว่ากรุณาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ  ท่านผู้บำเพ็ญเพียรมองดูหรือได้รับรู้รับทราบถึงสัตว์ต่างๆ  ผู้กำลังเป็นทุกข์  มีความลำบากกายใจ  แล้วท่านผู้บำเพ็ญเพียรเหล่านั้นเกิดความหวั่นใจ  ใคร่คิดช่วยเหลือ  เพื่อให้สัตว์เหล่านั้นพ้นจากความเป็นทุกข์เป็นต้น
โทมนัสจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเขามองดูหรือได้รับรู้รับทราบถึงสัตว์ต่างๆ  ผู้ที่กำลังเป็นทุกข์  แล้วรู้สึกเป็นทุกข์ไปด้วย  หรือเขาเองปรารถนาสิ่งไดสิ่งหนึ่ง  แล้วไม่ได้สิ่งนั้น  โทมนัสย่อมเกิดขึ้น  ดังข้อความในคัมภีร์ปปัญจสูทนีว่า  “ก็เมื่อบุคคลปรารถนาอารมณ์ที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้า  แล้วไม่ได้  โทมนัสย่อมเกิดขึ้น...[7]
ในคัมภีร์ปรมัตถทีปนี  ได้กล่าวถึงลักษณะของโทมนัสไว้    ประการว่า
๑.  จิตฺตปีฬนลกฺขณํ โทมนสฺสํ    โทมนัสมีลักษณะบีบคั้นจิต
๒.  มโนวิฆาตรนสํ                  มีความคับแค้นใจเป็นกิจ
๓.  มานสพฺยาธิปจฺจุปฎฺฐานํ       มีความเบียดเบียนใจ  เป็นปัจจุปัฎฐาน
นายไชยวัฒ์  กปิลกาญจน์  ได้กล่าวถึงโทมนัสไว้ว่า  “ความโทมนัสเศร้าโศกเสียใจมีเหตุมาจากตัณหา  คือคนที่กำลังเสวยทุกข์  เช่นความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นต้น  เป็นคนที่เรารัก  เช่นบิดามารดาเป็นต้น  ความเศร้าโศกเสียใจเกิดขึ้น  แต่ถ้าไม่ใช่คนที่เรารักความเศร้าโศกเสียใจอันนี้ก็ไม่เกิดขึ้น”[8]
ความกรุณาแท้มิได้มีสาเหตุมาจากตัณหา  เกิดขึ้นสักแต่ว่าปรารภทุกข์ของสัตว์ทั้งหลายเป็นประมาณ  ไม่เกี่ยวกับว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นที่รักหรือที่ชังแต่ประการใด  ย่อมเป็นไปเสมอเหมือนกันคือ  ต้องการให้เขาพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยกันทั้งนั้นส่วนความโทมนัสเป็นการนำทุกข์ของผู้อื่นมาใส่ตนเอง  คือเห็นเขาเสวยทุกข์ก็พลอยมีทุกข์ใจไปด้วย  หมายความว่าทุกข์ของผู้อื่นเป็นการบีบคั้นจิตใจของตนจนทำให้รู้สึกเดือดร้อน  เกิดความรู้สึกท้อแท้ขึ้นในจิตใจ  แต่ความกรุณามิได้นำทุกข์ของผู้อื่นมาใส่ตน  คือเมื่อเห็นเขาเสวยความทุกข์แม้หวั่นไหว  ใคร่จะช่วยเหลือก็มิได้พลอยเสวยทุกข์ทางใจไปด้วย  ไม่เกิดความรู้สึกท้อแท้ขึ้นในใจ  ตรงกันข้าม  ยิ่งมีมากยิ่งกระตือรือร้นในอันที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์
สรุปว่าทั้งกรุณาและโทมนัส  ต่างก็มีทุกขิตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์  คือเกิดขึ้นเพราะปรารภถึงความทุกข์ยากลำบากของผู้อื่นเป็นอารมณ์  แต่ถึงกระนั้น  เนื่องจากกรุณาเป็นกุศลถึงจะปรารภถึงความวิบัติความทุกข์ยากลำบากของสรรพสัตว์  ก็จะไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติมีความเดือดร้อนแต่ประการใดเลย  มีแต่ความเบิกบานแช่มชื่น  ซึ่งต่างจากโทมนัส  คือ  เมื่อไปปรารภถึงความวิบัติของผู้อื่นเป็นต้น  ตนเองก็จะพลอยเดือดร้อนไปกับเขาด้วยเนื่องมาจากสภาวะของโทมนัสเอง  พระอรรถกถาจารย์กล่าวสภาวะของโทมนัสไว้ว่า  โทมนัสเป็นอกุศลโดยส่วนเดียว
ข. ข้าศึกไกลของกรุณา  ได้แก่วิเหสา  ซึ่งแปลว่า  “ความเบียดเบียนหรือการทำร้าย”[9] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสลักษณะของวิเหสาไว้ว่า  “วิเหสาเป็นไฉน  บุคคลบางคนในโลกนี้  ย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย  ด้วยฝ่ามือบ่าง  ความเดือดร้อนยิ่ง  ความเข้าไปทำร้ายอันใด  นี้เราเรียกว่า  วิเหสา”[10]
วิเหสาเป็นความคิดที่ต้องการเบียดเบียน  ต้องการทำร้ายผู้อื่น  ซึ่งเป็นสภาพของอกุศลโดยส่วนเดียว  เป็นลักษณะนิสัยสันดานของคนชั่ว   สันดานหยาบ  ซึ่งคิดแต่จะทำร้ายผู้อื่น  นับว่าเป็นบุคคลผู้หน้าสงสาร  ท่านผู้บำเพ็ญเพียรควรเจริญกรุณาไปให้  เขาอาจจะมีความเป็นอยู่ดีหรือไม้ดีก็ตามเถิด  แต่เมื่อเขาละโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่อบายแน่แท้เนื่องจากเขามักเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย  เมื่อเขาละโลกนี้แล้ว  ก็ย่อมเข้าถึงโลกที่มีแต่การเบียดเบียน  สมดังข้อความที่ปรากฏในคัมภีร์กถาวัตถุว่า  “บุคคลที่มีปกติเบียดเบียน  ย่อมเข้าถึงโลกแห่งการเบียดเบียน”[11]
กรุณาถึงจะเพ่งความวิบัติของหมู่สัตว์  แต่มีลักษณะต้องช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากให้พ้นจากความทุกข์  ดังนั้นวิเหสาจึงเป็นข้าศึกไกลของกรุณา  เพราะมีส่วนเข้ากันไม่ได้โดยส่วนของตน  ด้วยเหตุฉะนี้  ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาท่านจึงกล่าวไว้ว่า  “ผู้ปฏิบัติเจริญกรุณากรรมฐาน  โดยไม่ต้องเกรงกลัวแต่วิหิงสา  การที่จักเจริญกรุณาด้วย  จักเบียดเบียนสัตว์ด้วยมือเป็นต้นด้วย  ในขณะเดียวกัน  มิใช่ฐานะที่จะพึงทำได้”[12]
วิเหสานี้เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับกรุณา  เมื่อมีวิเหสาก็ถือว่าขาดกรุณา  แต่เมื่อเจริญกรุราก็ได้ชื่อว่าเป็นการละวิเหสาไปด้วย  เพราะวิเหสานี้เป็นธรรมที่ละได้ด้วยกรุณาสมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนแก่พระราหุลว่า  “ดูกรราหุล  เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนา  จักละวิเหสาได้แน่นอน”[13]

ตารางที่ ๒.๓ ตารางสรุปลักษณะของกรุณาอัปปมัญญา
ลักษณะ
ความเป็นไปแห่งกายวาจาใจ ในอันที่จะบำบัดทุกข์แก่สัตว์ทั้งหลาย ให้หมดไป
กิจ
มีการอดกลั้นนิ่งดูดายอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของผู้อื่นและอยากช่วยเหลือ
ประโยชน์
มีการไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นอาการที่ปรากฎ
เหตุใกล้
การพิจารณาเห็นบุคคลที่ตกอยู่ในความทุกข์ไร้ที่พึ่ง
การถึงพร้อม
ความสงบลงแห่งโทสจิตตุปปาท ในอันที่จะเบียดเบียนสัตว์เป็นความสมบูรณ์ของกรุณา
ความเสื่อมเสีย
การเกิดขึ้นแห่งความเศร้าโศกเป็นความเสื่อมเสียของกรุณา
ข้าศึกใกล้
ความเสียใจที่เนื่องด้วยกามคุณอารมณ์ เป็นข้าศึกใกล้ของเมตตา
ข้าศึกไกล
ความเบียดเบียนสัตว์ เป็นข้าศึกไกลของเมตตา

ตารางที่ ๒.๔ ตารางสรุปกรุณาอัปปมัญญา อย่างแท้ อย่างเทียม
พรหมวิหาร
อย่างแท้
อย่างเทียม
๒.กรุณา
องค์ธรรม คือ กรุณาเจตสิก
มีทุกขิตสัตวบัญญัติเป็นอารมรณ์
ทุกขิตสัตวบัญญัติมี ๒อย่าง
๑.พวกที่กำลังลำบากด้วยพยสนะ ๕
๒.พวกที่กำลังสุขแต่อนาคตต้องได้รับความลำบาก
*ทำได้ยากเพราะอารมณ์กับจิตขัดกัน คือ
ผู้ช่วยเหลือ ---> ผู้มีทุกข์
คือผู้ช่วยเหลือจิตตัวเองเป็นสุขแต่เมื่อมองผู้มีทุกข์ จิตก็อาจเกิดความทุกข์ไปด้วย
องค์ธรรม คือ โทสจิตตุปบาท
มีความเสียใจตามผู้ที่กำลังได้รับทุกข์ไปด้วย

วิธีเจริญกรุณา
ผู้ปฏิบัติที่มีความประสงค์จะเจริญกรุณานั้น ประการแรกพึงทำบุพกิจเบื้องต้นเสียให้  เสร็จสิ้น นับตั้งแต่ตั้งปลิโพธความกังวล  ๑๐  ประการ เพื่อคัดความกังวลในเรื่องราวต่าง ๆ ตลอดถึงการนั่งในที่สงัดตามสมควร
อันดับแรก พึงพิจารณาให้เห็นโทษของวิหิงสาคือความเบียดเบียน และอานิสงส์ของกรุณาเสียก่อน วิเหสาและโทษของวิเหสานั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า  บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยฝ่ามือบ้าง...  ความเดือดร้อนยิ่ง  ความเข้าไป ทำร้าย นี้เรียกว่าวิเหสา[14]  และว่าบุคคลที่มีปกติเบียดเบียน ย่อมเข้าถึงโลกแห่งการเบียดเบียน[15]
บุคคลผู้มีอัชฌาสัยชั่วร้าย  ชอบทรมานเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายเองบ้างใช้ให้ผู้อื่นกระทำบ้าง   ผลวิบากอันชั่วร้ายของการเบียดเบียนเช่นนั้น  ย่อมจะสนองเขาทั้งในโลกปัจจุบันและโลกหน้าคือเมื่อผู้ใดเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยการทำให้พิการให้ทนทุกข์ทรมานบ้าง  ทำให้เสียทรัพย์บ้างทำร้ายให้เสียชีวิตบ้าง เพราะเหตุดังกล่าวมานี้ เขาย่อมเดือดเพราะ การกระทำชั่วของคนเอง ความเสียชื่อเสียงเพราะการเบียดเบียนสัตว์นั้นเป็นเหตุย่อมกระพือสะพัดไปเมื่อเขาเข้าสู่สมาคม เขาจะเป็นคนไม่แกล้วกล้าไม่สง่าผ่าเผยครั้นเขาตายย่อมไปเกิดในทุคติภูมิมีนรกเป็นต้น   และภายหลังเมื่อเขามีโอกาสได้มาเกิดเป็นมนุษย์ในสุคติภูมิอีก ครั้งหนึ่ง เขาจะเป็นคนได้ชาติกำเนิดเลวมีตระกูลต่ำ  จะเป็นคนมีผิวพรรณทรามน่าเกลียดไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนและคนอื่นผู้ได้ทบเห็น จะเป็นคนมีโรคภัยไข้เจ็บมาก เขาจะเป็นคนมีอายุสั้นมีชีวิตอยู่ในโลกนี้น้อย นี้แลเป็นผลของการเบียดเบียน
เมื่อผู้ปฏิบัติได้พิจารณาเห็นโทษของวิหิงสาแล้ว       ในลำดับต่อไปพึงพิจารณาถึงอานิสงส์ของกรุณาคือ ความสงสารสัตว์ ปรารถนาให้สัตว์พ้นจากความทุกข์ความเดือด  โดยประการตรงกันข้ามกับวิหิงสาตามที่พรรณนามาแล้ว
อนึ่งอานิสงส์ของกรุณา ในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคกล่าวไว้ว่า “อานิสงส์ของกรุณา ๑๑ ประการ มีหลับเป็นสุขเป็นต้นเหมือนกันกับอานิสงส์ของเมตตา[16]   เมื่อได้เห็นโทษของวิเหสาและอานิสงส์ของกรุณาอย่างเด่นชัดเช่นนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติต้องทำความเข้าใจต่อ บุคคลที่จะเจริญกรุณาไปถึงก่อน เนื่องจากกรุณามีทุกขิตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ คือผู้ปฏิบัติจำต้องเจริญกรุณาไปยังบุคคลผู้ตกทุกข์ใต้ยากต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อเริ่มเจริญกรุณาจำต้องรู้จักบุคคลที่เป็นโทษ บุคคลที่ไม่ควรเจริญกรุณาเป็นอันดับแรก และบุคคลที่ควรเจริญกรุณาเป็นอันดับแรกก่อน ดังต่อไปนี้

บุคคลที่เป็นโทษต่อการเจริญกรุณา มี ๗ จำพวก แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
กลุ่มที่ ๑ บุคคลที่ไม่ควรเจริญกรุณาไปเป็นอันดับแรก ๕ จำพวก คือ
๑. ปิยปุคฺคโล บุคคลที่เป็นที่รัก
๒. อติปฺปิยสหายโก บุคคลที่เป็นเพื่อนรักยิ่ง
๓. มชฺณตฺโต บุคคลที่เป็นกลาง ๆ
๔. อปฺปิยปคฺคโล บุคคลที่ไม่เป็นที่รัก
๕. เวรีปคฺคโล บุคคลที่เป็นคู่เวรกัน[17]
ในบุคคลทั้ง ๕ จำพวกนี้ ผู้ปฎิบัติไม่ควรเจริญกรุณาไปเป็นอันดับแรกเหตุที่ไม่ให้เจริญไปเป็นอันดับแรก ในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคแสดงไว้เป็นเชิงถามตอบว่า

ถาม เพราะเหตุไร? จึงไม่ควรเจริญกรุณาไปในบุคคล ๕ จำพวก? มีบุคคลที่เป็นที่รักเป็นต้น?
ตอบ เพราะว่าคนเป็นที่รักก็ย่อมตั้งอยู่ในฐานะของคนที่เป็นที่รัก... ไม่ใช่เป็นวิสัยที่จะทำให้เกิดกรุณาในอันดับแรกได้[18]

เนื่องจากผู้ปฎิบัติกรุณายังมิเคยฝึกบำเพ็ญกรุณามาก่อนเลยแรกเริ่มปฏิบัติหาก  เจริญกรุณาไปยังคนที่เป็นที่รักและเพื่อนที่รักมาก   เมื่อกระทำไว้ในใจว่าขอให้พ้นจากทุกข์ภัย ทั้งปวงเถิด สภาพจิตของผู้ปฎิบัติมีความรักอยู่ในท่านเหล่านี้ก่อนแล้ว ดังนั้นสภาพจิตจึงเป็น  เมตตา  มิใช่กรุณา  อนึ่งหากกรุณาเกิดขึ้นก็จะเป็นกรุณาที่เจือด้วยโทสะ เนื่องจากว่าเพราะรักมาก   เมื่อเห็นเขาทุกข์ก็จะพลอยเดือดร้อนไปด้วย, บุคคลเป็นกลาง ๆ เมื่อกระทำไว้ในใจว่า ขอให้พ้นจากทุกข์ภัยทิ้งปวงเถิด เนื่องจากสภาพจิตมีแต่ความเฉย ๆ ดังนั้นกรุณาย่อมเกิดได้มาก, บุคคลที่เกลียดกัน  และบุคคลที่เป็นศัตรูกัน เมื่อกระทำไว้ในใจว่าขอให้พ้นจากทุกข์ภัย ทั้งปวงเถิด ความโกรธย่อมจะเกิดขึ้น  จิตใจของผู้ปฏิบัติเองย่อมจะคัดค้าน  ย่อมจะไม่ยอมรับย่อมจะสับสนวุ่นวาย  ส่งผลให้จิตไม่เป็นสมาธิ กรุณาย่อมจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้และผู้ที่ตนเจริญกรุณาไปให้ก็ไม่สามารถรับได้         ดังนั้นท่านจึงห้ามมิให้เจริญกรุณาไปในบุคคล ๕ จำพวกเป็นอันดับแรก
กลุ่มที่ ๒ บุคคลที่ไม่ควรเจริญกรุณาไปให้มี ๒ จำพวกคือ
๑.บุคคลที่ห้ามเจริญกรุณาโดยเจาะจง คือ ลิงฺควิสภาคปคฺคโล บุคคลที่ต่างเพศกัน
๒.บุคคลที่เจริญกรุณาไปให้ไม่ได้เลยคือ กาลกตปคฺคโล คนที่ตายแล้ว[19]  บุคคลทั้ง ๒ จำพวกนี้ไม่เป็นเขตที่ควรจะนำมาเจริญเป็นอารมณ์ของกรุณากรรมฐานตลอดกาลเพราะเหตุคงที่แสดงไว้แล้วในเมตตาภาวนานั่นเอง

ลำดับบุคคลที่ควรเจริญกรุณา
เมื่อผู้ปฏิบัติทราบถึงโทษของวิเหสาและอานิสงส์ของกรุณา ตลอดจนถึงบุคคลที่เป็นโทษต่อการเจริญกรุณาแล้ว  ลำดับต่อไปพึงทราบถึงลำดับบุคคลที่ควรเจริญกรุณาไป ซึ่งมีลำดับบุคคล ดังต่อไปนี้
ลำดับที่ ๑  การเจริญกรุณาไปในตนเอง เพื่อให้กรุณาเกิดได้ง่ายควรเจริญ ไปยัง คน ๒ ประเภท  คือ ๑. คนยากจนเข็ญใจ   ๒. คนมีความสุขความเจริญ แต่มักกระทำทุจริต  ก่อนบุคคลอื่นทั้งหมด 
ลำดับที่ ๒ การเจริญกรุณาไปในบุคคลผู้เป็นที่รัก
ลำดับที่ ๓ การเจริญกรุณาไปในบุคคลผู้เป็นกลาง ๆ
ลำดับที่ ๔ การเจริญกรุณาไปในบุคคลผู้เป็นศัตรูต่อกัน[20]

ลำดับที่ ๑ การเจริญกรุณาไปในตนเอง
ในลำดับแห่งการเริ่มเจริญกรุณานั้น ผู้ปฎิบัติพึงเจริญไปในตนเองเป็นอันดับแรกก่อน   ด้วยการภาวนาซ้ำแล้วซ้ำอีก ร้อยครั้ง พันครั้ง จนกว่าจิตจะประกอบด้วยกรุณา กลายเป็นจิตที่อ่อน ควรแก่การงาน เพื่อประโยชน์จะได้เป็นสักขีพยานแก่การเจริญไปยัง บุคคลอื่น ทั้งนี้เพราะความกรุณาสิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่ากับความกรุณาตนเองนั้นไม่มีเมื่อทำการเจริญกรุณาแก่คนก่อนอยู่เสมอ ๆ แล้วความปรารถนาให้ตนเองพ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง ความปรารถนาสุข กลัวทุกข์ อยากมีอายุยืน  หรือไม่อยากตาย ที่มีประจำใจอยู่นั้น ย่อมเกิดขึ้นเป็นพิเศษแล้วจึงนึกเปรียบเทียบไปในสัตว์ทั้งหลายว่า ล้วนมีความปรารถนาเช่นเดียวกันกับตนทุกประการอย่างนี้แลเป็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้กรุณาจิตเกิดขึ้นได้ง่าย และทั้งอยู่อย่างมั่นคง ตลอดจนเป็นเหตุปัจจัยในการบรรลุอุปจารสมาธิได้ด้วยการภาวนาอย่างนี้ว่า
อหํ ทุกขา มุจฺจามิ  ขอให้ข้าพเจ้าจงพ้นจากทุกข์เถิด[21] 
ผู้ปฏิบัติจงพยายามภาวนา คอยส่งจิตอันประกอบด้วยกรุณาไปพร้อมกับการภาวนานั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนให้กรุณาปรากฏขึ้นใน ใจอย่างเด่นชัดโดยทำนองเดียวกับเมตตาภาวนา เพื่อให้การเจริญกรุณาเป็นไปโดยง่าย ผู้ปฎิบัติควรเจริญไปยังบุคคล  ๒ จำพวก คือ ๑. คนตกทุกข์ได้ยาก   ๒. คนมีความสุขแต่มักกระทำทุจริตเป็นอันดับแรก สมดังที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า “ภิกษุผู้มิจิตประกอบด้วยกรุณา        ย่อมแผ่กรุณาจิตไปทางทิศหนึ่งอยู่นั้น คือทำอย่างไร...   เหมือนอย่างที่ได้เห็นคนอื่น ซึ่งเข็ญใจได้ทุกข์  ซ้ำประกอบด้วยบาปทำชั่วคนหนึ่งแล้วพึงเกิดความกรุณาขึ้นฉะนั้น”[22]
ผู้ปฎิบัติเมื่อได้เห็นบุคคลซึ่งเป็นคนที่น่าสงสาร  ผู้ประสบความทุกข์ลำบาก เป็นคนยากจนเข็ญใจทั้งประกอบกรรมทำทุจริต  อดอยาก  นั่งขอทาน พึงยังกรุณาจิตให้เป็นไปในคนเช่นนั้นด้วยการภาวนาว่า


กิจฺฉํ  วตายํ สตฺโต อาปนฺโน  อปฺเปว นาม อิมมฺหา ทุกขา มจฺเจยฺย
สัตว์ผู้นี้ประสบความทุกข์ยากลำบากแท้หนอ ขอจงพ้นจากความทุกข์นี้เถิด[23]
อยํ สตฺโต ทุกฺขา มจฺจตุ
ขอสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จงพ้นจากความทุกข์เถิด
เอเต สตฺตา ทุกขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จงพ้นจากความทุกข์เถิด
          สพฺเพ สตฺตา ทุกขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงท้นจากทุกข์เสียเถิด”
ผู้ปฏิบัติจงพยายามภาวนา คือส่งจิตอันประกอบด้วยกรุณาไปพร้อมกับบทภาวนา ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกระทั่งกรุณาปรากฏขึ้นในใจอย่างเด่นชัด แล้วพยายามต่อไปจนสำเร็จถึง ขั้นอัปปนาฌาน  
ถ้าปฏิบัติไม่ได้พบเห็นคนทุกข์ยากเข็ญใจเช่นนั้น   ที่จะนำมากระทำเป็นอารมณ์ กรรมฐาน พึงเจริญกรุณาไปในบุคคลประเภทที่ ๒ คือ  คนมีความสุขความเจริญแต่มักกระทำทุจริต โดยยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับคนที่กำลังจะถูกประหารชีวิต ซึ่งวิธีการปฏิบัตินั้น มีปรากฏในคัมภีร์ปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค ท่านแสดงไว้เป็นเชิงถามตอบดังต่อไปนี้ว่า

ถามว่า จะพึงปฏิบัติอย่างไร?
ตอบว่า อุปมาเหมือนพวกราชบุรุษจับโจรได้พร้อมทั้งของกลางนำไปแสดงต่อพระราชา  
เมื่อพระราชามีพระราชโองการให้ประหารชีวิตจึงมัดโจรนั้นแล้วเฆี่ยน...   ขณะนั้นมนุษย์ทั้งหลายเห็นแล้วพากันให้ของเคี้ยวบ้างของรับประทานบ้าง...  ดูคล้าย ๆ กับคนที่มีความสุข คนที่เพียบพร้อมด้วยโภคสมบัติก็จริง แต่ก็ไม่มีใครเลยที่จะสำคัญเห็นว่า โจรนี้มีความสุขมีโภคสมบัติมากมีแต่จะกรุณาสงสารเขา[24]
สรุปความว่า คนที่ควรเจริญกรุณาไปถึงเป็นอันดับแรกนั้นก็คือตนเอง ส่วนผู้ที่ เจริญกรุณาได้ง่ายมี ๒ จำพวก คือ ๑. คนทุกข์ยากเข็ญใจ   ๒. คนที่มีความสุขแค่มักชอบทำแต่บาปกรรม

สำดับที่   การเจริญกรุณาไปยังบุคคลผู้เป็นที่รัก
เมื่อผู้ปฏิบัติได้เจริญกรุณาไปในตน  เพื่อให้สำเร็จเป็นสักขีพยานเป็นอันดับแรกเพื่อได้เจริญกรุณาไปในคนทุกข์ยากเข็ญใจ และคนมีความสุขแต่มักชอบทำแต่บาปกรรม  เพื่อให้กรุณาจิตเกิดขึ้นได้ง่ายดังนี้แล้ว ย่อมสามารถบรรลุอัปปนาได้ พึงเจริญกรุณาไปในบุคคลอันเป็นที่รักต่อไป
ในการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาถึงความทุกข์ยากลำบากของผู้เป็นที่รัก สมดังที่ พระพิมลธรรมกล่าวไว้ว่า “พึงพิจารณาเลือกเอาส่วนแห่งความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของคนที่รักซึ่งปรากฏเห็นอยู่ในชาติปัจจุบันหรือที่จะเกิดมีแก่เขาในชาติต่อ ๆ ไป แล้วจึงเจริญกรุณาให้เป็นไปในคนที่รัก”[25]  เมื่อได้ระลึกถึงความทุกข์ยากลำบากเป็นต้นอันเป็นเหตุให้เกิดความสงสารใคร่ปรารถนาให้พ้นจากความทุกข์          อันเป็นเหตุใกล้ต่อการให้เกิดกรุณาได้แล้วต่อจากนั้นพึงเจริญกรุณาไปด้วยการภาวนาว่า
กิจฺฉํ วตายํ ปิยปคฺคโล  อาปนฺโน  อปฺเปว นาม อิมมฺหา ทุกขา มุจฺจยฺย
บุคคลผู้เป็นที่รักนี้ประสบความทุกข์ยากลำบากหนอขอจงพ้นจากความทุกข์เถิด
อยํ ปิยปุคฺคโล ทุกขา มุจฺจตุ
          ขอบุคคลผู้เป็นที่รักนี้ จงพ้นจากความทุกข์เถิด
เอเต ปิยปุคฺคลา ทุกขา มุจฺจนฺตุ
ขอบุคคลผู้เป็นที่รักเหล่านี้ จงพ้นจากความทุกข์เถิด
          ผู้ปฏิบัติพึงเพียรพยายามภาวนาช้ำแล้ว ซ้ำเล่า ร้อยครั้งพันครั้ง จนกว่าจิตจะเป็นสมาธิอันประกอบด้วยกรุณา หรือจนกว่าจะบรรลุอัปปนาคือกรุณาจะบังเกิดขึ้น

ลำดับที่ ๓ เจริญกรุณาไปในบุคคลผู้เป็นกลาง ๆ
เมื่อผู้ปฎิบัติได้เจริญกรุณาไปในบุคคลผู้เป็นที่รักอย่างนั้นแล้ว ย่อมสามารถบรรลุอัปปนาหรือจิตประกอบด้วยกรุณาอย่างแนบแน่น อันดับต่อจากนั้นพึงเจริญกรุณาให้เป็นไปในบุคคลผู้เป็นกลาง ๆ นั้นต่อไป
ในการปฎิบัติ ผู้ปฎิบัติพึงพิจารณาถึงความทุกข์ยากลำบากของบุคคลผู้เป็นกลาง ๆ สมดังที่พระพิมลธรรมกล่าวไว้ว่า “พึงพิจารณาเลือกเอาส่วนแห่งความทุกข์ยากความเดือดร้อนของบุคคลผู้เป็นกลาง ๆ ซึ่งปรากฏเห็นอยู่ในชาติปัจจุบันหรือที่จะเกิดมีแก่เขาในชาติต่อไป”[26]  เมื่อได้ระลึกถึงความทุกข์ยากลำบากเป็นต้น อันเป็นเหตุให้เกิดความสงสาร ใคร่ปรารถนาให้พ้นจากความทุกข์ และอันเป็นเหตุใกล้ต่อการให้เกิดกรุณาได้แล้ว พึงเจริญ กรุณาไปด้วยการภาวนาว่า
                            
กิจฺฉํ วตายํ มชุฌตฺตปคฺคโล  อาปนฺโน   อปฺเปว นาม อิมมฺหา ทุกขา มุชเจยฺ  
บุคคลผู้เป็นกลาง ๆ นี้ประสบความทุกข์ลำบากหนอ ขอจงพ้นจากความทุกข์นี้เถิด
อยํ มชฺฌตฺตปุคฺคโล   ทุกขา มุจฺจตุ
          ขอบุคคลผู้เป็นกลาง ๆ นี้ จงพ้นจากความทุกข์เถิด
          เอเต มชฺฌตฺตปุคฺคลา ทุกขา มุจฺจนฺตุ
          ขอบุคคลผู้เป็นกลาง ๆเหล่านี้จงพ้นจากความทุกข์เถิด
ผู้ปฎิบัติพึงเพียรพยายามภาวนาซ้ำแล้ว  ซ้ำเล่า  ร้อยครั้งพันครั้ง  จนกว่าจิตจะเป็น สมาธิอันประกอบด้วยกรุณา หรือจนกว่าจะบรรลุอัปปนา คือกรุณาจะบังเกิดขึ้นในจิตใจได้อย่างแนบแน่น

ลำดับที่ ๔ เจริญกรุณาไปในบุคคลผู้เป็นศัตรูต่อกัน
เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญกรุณาภาวนาไปในบุคคลที่เป็นกลาง ๆ       เช่นนั้นแล้วย่อมสามารถบรรลุอัปปนาหรือจิตประกอบด้วยกรุณาอย่างแนบแน่นได้ พึงขวนขวายเพื่อเจริญกรุณาไปในบุคคลที่เป็นศัตรูต่อไป
ในการปฏิบัติผู้ปฏิบัติทำจิตที่ได้นั้นให้อ่อนควรแก่การงานข่มจิตที่มีภาวะ สงสารมาก ปรารถนาให้พ้นจากความทุกข์ในบุคคลที่ เป็นกลาง ๆ ให้ลดลงมาตั้งอยู่ในภาวะที่เป็นความสงสารอย่างธรรมดา  แล้วเพียรเจริญกรุณาไปในบุคคลที่เป็นศัตรูต่อไปเพื่อให้ความรู้สึกที่เป็นศัตรูต่อกันเลือนหายกลายเป็นภาวะจิตที่เป็นกลาง ๆ แล้วจึงยกจิตขึ้นสู่ภาวะ จิตที่มีความสงสารธรรมดาสามัญ พยายามพัฒนาจิต โดยการเจริญกรุณาไปยังคนที่เป็นศัตรูต่อกัน พระพิมลธรรมกล่าวไว้ “พิจารณาเอาส่วนแห่งทุกข์ของบุคคลผู้เป็นศัตรู ที่ปรากฏเห็นอยู่ในชาติปัจจุบันหรือที่จะเกิดมีแก่เขาในชาติต่อ ๆ ไป”[27]  แล้วจึงเจริญกรุณาไปด้วย การภาวนาว่า
กิจฺฉํ วคายํ  เวรีปคฺคโล  อาปนฺโน, อปฺปนฺโน  นาม อิมมฺหา  ทุกฺขา มุจฺเจยฺย
บุคคลผู้เป็นศัตรูนี้ประสบความทุกข์ยากลำบากหนอ ขอจงพ้นจากความทุกข์นี้เถิด
อยํ เวรีปคฺคโล   ทุกขา มุจฺจตุ
ขอบุคคลผู้เป็นศัตรูนี้ จงพ้นจากความทุกข์เถิด
          เอเต เวรีปุคฺคลา ทุกฺขา มุจฺจนฺติ
          ขอบุคคลผู้เป็นศัตรูเหล่านี้ จงพ้นจากความทุกข์เถิด
          ผู้ปฏิบัติพึงเพียรพยายามภาวนาซ้ำแล้ว  ช้ำเล่า  ร้อยครั้งพันครั้ง จนกว่าจิตจะเป็นสมาธิอันประกอบด้วยกรุณา หรือจนกว่ากรุณาจะบังเกิดขึ้นในจิตใจอย่างแนบแน่น  เมื่อผู้ปฏิบัติพยายามบำเพ็ญและกระทำได้ดังกล่าวมาแล้วถือได้ว่าเป็นผู้กระทำกรรมที่บุคคลกระทำได้โดยยากยิ่ง
          การเจริญกรุณาไปในบุคคลผู้เป็นศัตรูนั้น   ถ้าความโกรธแค้นจะพึงเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติโดยทำนองที่แสดงไว้ในเมตตาภาวนานั้น ผู้ปฏิบัติพึงทำการบรรเทาความโกรธแค้น นั้นให้ระงับลง ด้วยวิธีดังที่แสดงไว้ในเมตตาภาวนานั้นแหละ   เช่นต้องหวนกลับไปเจริญกรรมฐานในบุคคลจำพวกตน ๆเสียใหม่หรือพิจารณาถึงพระพุทธโอวาท ฯลฯ   
ส่วนผู้ปฎิบัติที่ไม่มีคนคู่เวร ทั้ง ๆ ที่มีคนทำความเสียหายให้เพราะเป็นชาติเชื้อมหาบุรุษมีอัธยาศัยอันกว้างใหญ่นั้นไม่จำต้องทำความขวนขวายทำจิตให้อ่อนควรแก่การงาน ต่อคนคู่เวร ในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคว่า “กรณีที่จะต้องทำจิตให้อ่อนควรแก่การงานต่อคนคู่เวร ย่อมมีเฉพาะแต่ผู้ปฎิบัติผู้มีศัตรูเท่านั้น”[28]

เจริญกรุณาในคนทำความดีและมีความสุข
การเจริญกรุณากรรมฐานที่แสดงมาแล้วนั้น เป็นการเจริญไปในคนที่ตกทุกข์ได้ยากในชาติปัจจุบัน และคนที่มีความสุขในปัจจุบันแต่จะได้ประสบทุกข์ในชาติหน้า
ลำดับต่อไปนี้จะแสดงวิธีการเจริญกรุณาไปในบุคคลที่มีความสุขและทำแต่ความดี ไม่ได้ทำความชั่วร้ายอันใดเลย สำหรับบุคคลผู้มีความสุขอย่างเพียบพร้อมและทำแต่คุณงามความดีมาโดยตลอดนั้น เมื่อผู้ปฏิบัติได้เห็นเขาประสบกับความสูญเสียอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นความสูญเสียญาติที่รัก, เกิดเป็นโรคภัยไข้เจ็บ, เกิดความสูญเสียโภคทรัพย์เป็นต้น แม้ไม่ได้เห็นด้วยาเพียงแต่ได้ทราบข่าว  เช่นนั้นก็ตาม หรือพิจารณาถึงความทุกข์ในวัฏฏะ สงสารที่เขาจะได้รับ ก็สามารถเจริญกรุณาไปในบุคคลเช่นนั้นได้ ในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค กล่าวว่า “ท่านผู้นี้ก็นับว่ายังเป็นคนมีทุกข์อยู่นั้นเอง เพราะแม้ถึงเขาจะไม่มีความสูญเสีย อะไร ๆเลยก็ตามแต่ก็นับได้ว่าเป็นคนยังไม่ข้ามพ้นทุกข์ในวัฏฏะสงสารคือยังต้อง ประสบทุกข์ในโลกอยู่นั้นเอง”[29]   ครั้นแล้วจึงเจริญกรุณาไปในบุคคลนั้น ๆ ตามลำดับเพื่อทำกรุณาให้เป็นสีมสัมเภทต่อไป

วิธีเจริญกรุณาโดยสีมสัมเภฑ
เมื่อผู้ปฏิบัติได้พยายามบรรเทาความโกรธแค้นในศัตรูให้ระงบลงได้แล้วด้วย  อุบายวิธีต่าง ๆ ตามที่ได้แสดงมาแล้ว จิตของผู้ปฏิบัตินั้นก็จะแผ่ไปน้อมไปแม้ในศัตรูคู่เวร นั้นได้ด้วยวิธีแห่งกรุณาภาวนา เช่นเดียวกับในบุคคลผู้เป็นที่รักเป็นต้นผู้ปฏิบัติพึงเจริญ กรุณาให้บ่อยยิ่งขึ้น แล้วทำกรุณาให้เป็นสีมสัมเภท กล่าวคือทำให้จิตเสมอกันในบุคคล ๔ จำพวก คือ ๑.ตนเอง ๒. บุคคลผู้เป็นที่รัก ๓. บุคคลผู้เป็นกลาง ๆ ๔. บุคคลผู้เป็นศัตรู  
          คำว่า “สีมสัมเภท” หมายถึงการทำลายขอบเขตแห่งกรุณา คือไม่ทำการแบ่งแยกว่าตนเอง, บุคคลผู้เป็นที่รัก, บุคคลผู้เป็นกลาง ๆ และบุคคลผู้เป็นศัตรูกัน เนื่องจากคน   จำพวกนี้เป็นสีมาคือเขตแดนที่จะแผ่กรุณาไปถึง เมื่อแรกเจริญกรุณานั้นก็เจริญไปทีละเขต ๆ ครั้นภาวนามีกำลังกล้าขึ้น จิตก็เห็นเสมอในคน ๔ จำพวกนี้ ไม่มีการแยกเป็นเราเป็นเขา

          เจริญกรุณาบรรลุถึงขั้นปฐมฌาน
เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญกรุณากรรมฐานถึงขั้นสีมสัมเภทแล้ว ต่อจากนั้นจงทำสีมสัมเภท ให้เป็นนิมิตกรรมฐาน แล้วพยายามทำให้เจริญขึ้น เพียรทำให้มากยิ่งขึ้น ผู้ปฏิบัติก็จะ สามารถบรรลุถึงอัปปนาสมาธิ อันเป็นผลมาจาการปฏิบัติกรุณา โดยไม่เป็นการลำบากอะไร เลย ด้วยภาวนาวิธีเพียงเท่านี้เป็นอันว่าผู้ปฏิบัติกรุณากรรมฐานได้บรรลุปฐมฌานซึ่งประกอบ ด้วยกรุณา

กรุณาฌานและความเกิดขึ้นแห่งกรุณาฌาน
คำว่ากรุณาฌาน หมายถึงฌานที่ปรากฏขึ้นด้วยการเจริญกรุณา ผลของฌานนั้นคือ ได้รับความสงบแห่งจิตใจ เหมือนกับการเจริญกรรมฐานอื่น ๆ แต่ลักษณะพิเศษของกรุณา ภาวนานี้คือสภาพจิตที่ประกอบด้วยกรุณา ความปรารถนาให้สัตว์ทั้งหลายพ้นจากความทุกข์ ความลำบากเป็นต้น ที่แผ่ไปยังสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่า ทุกทิศ  ทุกสถานที่นี้เรียกว่ากรุณา  ฌาน และบุคคลผู้ได้กรุณาฌานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรับรองไว้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ ที่ปรากฎอยู่ในโลก ๔ จำพวก นี้เป็นไฉน ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้มีใจประกอบด้วยกรุณา  แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่...เมื่อทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้น พรหมกายิกา[30]
บุคคลบางคนในโลกนี้  มีใจประกอบด้วยกรุณาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่...เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุทธาวาส[31]

การเจริญกรุณาตามแนวจตุกกนัยและปัญจกนัย
          เมื่อได้ปฏิบัติได้บรรลุปฐมฌานแล้ว พึงพยายามเจริญกรรมฐานให้ยิ่งขึ้นไป โดยใช้ นิมิตคือสีมสัมเภทนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐาน เพียรทำให้มากยิ่งขึ้น ก็จะได้บรรลุถึงฌานขั้นสูงขึ้นไปโดยลำดับ ในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคกล่าวไว้ว่า “ถ้าเป็นฌานจตุกกนัยก็จะได้ บรรลุทุติยฌานและตติยฌานเป็นขั้นสุดท้าย ไม่ถึงขั้นจตุตถฌาน เป็นฌานปัญจกนัย ก็จะได้บรรลุทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นขั้นสุดท้าย ไม่ถึงขั้นปัญจมฌาน เพราะ เหตุที่จตุตถฌาน”[32] โดยจตุกกนัยและปัญจกฌานโดยปัญจกนัย มีองค์ฌานเป็นอุเบกขาเวทนา กรุณานี้เป็นฝักฝ่ายแห่งโสมนัสเวทนา ดังนั้นกรุณาภาวนาจึงไม่สามารถที่จะให้บรรลุถึงจตุตถฌานโดยจตุกกนัยและปัญจกฌานโดยปัญจกนัยได้

วิธีแผ่กรุณาและคำแผ่กรุณา
วิธีแผ่กรุณามี ๓ วิธี คือ  . อโนธิโสผรณา   ๒. โอธิโสผรณา  ๓. ทิสาผรณา[33]     มีอรรถาธิบายโดยสังเขปดังนี้
๑. อโนธิโสผรณา แผ่ไปโดยไม่เจาะจง คือแผ่ไปในสัตว์ ปาณะ ภูติ บุคคล และผู้มีอัตภาพ
๒. โอธิโสผรณา แผ่ไปโดยเจาะจง คือแผ่ไปในสตรี บุรุษ พระอริยเจ้า อนริยชน เทวดา มนุษย์ และสัตว์วินิปาติกะ
๓. ทิสาผรณา   แผ่ไปในทิศ คือแผ่ไปในสัตว์  ปาณะ  ภูต  บุคคล  ผู้มีอัตภาพ  สตรี  บุรุษ  พระอริยเจ้า  อนริยชน   เทวดา มนุษย์ และสัตว์วินิปาติกะ ในทิศทั้ง ๑๐ คือ ทิศ คะวันออก ทิศคะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศคะวันตกเฉียงใต้ ทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศเบื้องล่าง และทิศเบื้องบน
วิธีแผ่กรุณาทั้ง ๓ อย่าง ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีสารัตถะสำคัญและรายละเอียด ต่าง ๆ ดังนี้
๑.  อโนธิโสผรณา การแผ่กรุณาโดยไม่เจาะจงโดยอาการ 
๑.๑  สพฺเพ  สตฺตา  มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
๑.๒  สพฺเพ  สตฺปาณา  ทุกฺขา  มุจฺจตุ
ขอปาณะทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
๑.๓ สพฺเพ ภูตา ทุกฺขา  มุจฺจตุ
ขอภูตทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
                    ๑.๔ สพฺเพ  ปุคฺคลา  ทุกฺขา  มุจฺจตุ
                    ขอบุคคลทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด

.๕ สพฺเพ อตฺตภาวปริยาปนฺนา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
                   ขอผู้ที่มีอัตภาพทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด

๒. โอธิโสผรณา การแผ่กรุณาโดยเจาะจง โดยอาการ 
๒.๑  สพฺเพ  อิตฺถิโย  ทุกฺขา  มุจฺจนฺตุ
          ขอสตรีทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
          ๒.๒ สพฺเพ ปุริสา ทุกขา มุจฺจนฺตุ
          ขอบุรุษทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
                    ๒.๓ สพฺเพ อริยา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
                   ขอพระอริยเจ้าทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
                    ๒.๔ สพฺเพ อนริยา ทุกขา มุจฺจนฺตุ
                   ขอปุถุชนทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด”
                    ๒.๕ สพฺเพ เทวา ทุกขา มุจฺจนฺตุ
                   ขอเทวดาทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
                    ๒.๖ สพฺเพ มนุสฺสา ทุกขา มุจฺจนฺตุ
                   ขอมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
                    ๒.๗ สพฺเพ วินิปาติกา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
                   ขอวินิปาติกะทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
         
๓. ทิสาผรณา การแผ่กรุณาไปในทิศ โดยอาการ ๑๐
วิธีการแผ่กรุณาไปในทิศนั้น คือยกเอาอโนธิโสบุคคล ๕ จำพวก โอธิโสบุคคล  ๗ จำพวก รวมเป็น ๑๒ บุคคลไปทั้งไว้ในทิศทั้ง ๑๐ แล้วแผ่กรุณาไปในบุคคล  ๑๒ จำพวก ที่อยู่ในทิศทั้ง ๑๐ นั้น จึงเรียกว่าแผ่ไปในทิศโดยอาการแห่งภาวนา ๑๐ อาการ เมื่อ ว่าโดยบุคคลเป็น ๑๒ วาระ ตัวอย่างดังต่อไปนี้
๓.๑ สพฺเพ  ปุรตฺถิมาย  ทิสาย  สตฺตา  ทุกฺขา  มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในทิศตะวันออก จงพ้นจากทุกข์เถิด
                            
๓.๒ สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย สตฺตา ทุกขา  มุจฺจนฺตุ
                   ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในทิศตะวันตก จงพ้นจากทุกข์เถิด
                    ๓.๓ สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย สตฺตา ทุกขา มุจฺจนฺตุ
                   ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในทิศเหนือ จงพ้นจากทุกข์เถิด
                    ๓.๔ สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย สตฺตา ทุกขา มจฺจนฺตุ
                   ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในทิศใต้ จงพ้นจากทุกข์เถิด
                    ๓.๕ สพเพ   ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย สตฺตา ทุกฺขา มจฺจนฺตุ
                   ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในทิศตะวันออกเฉียงเหนือจงพ้นจากทุกข์เถิด
                    ๓.๖  สพฺเพ   ปจฺฉิมาย อนุทิสาย สตฺตา ทุกขา มุจฺจนฺตุ
                   ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในทิศตะวันตกเฉียงใต้ จงพ้นจากทุกข์เถิด
                    ๓.๗  สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย สตตา ทุกฺขา มจฺจนฺตุ
                   ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงตะวันตกเฉียงเหนือ จงพ้นจากทุกข์เถิด
                    ๓.๘  สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย สคตฺตา ทุกขา   มจฺจนฺตุ
                    ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในทิศตะวันออกเฉียงใต้ จงพ้นจากทุกข์เถิด
                    ๓.๖ สพฺเพ  เหฏฐิมาย ทิสาย สตฺตา ทุกขา มจฺจนฺตุ
                   ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในทิศเบื้องล่าง จงพ้นจากทุกข์เถิด
                    ๓.๑๐ สพฺเพ   อุปริมาย  ทิสาย สตตา ทุกขา   มุจฺจนฺตุ
                   ขอสัตว์ทั้งหลายทิ้งปวงในทิศเบื้องบน จงพ้นจากทุกข์เถิด
ส่วนคำแผ่กรุณาไปในทิศโดยอาการ   ๑๐  ในบุคคลอีก ๑๑ จำพวกคือตั้งแต่จำพวกที่ ๒ สพฺเพ ปาณา จนถึงจำพวกที่ ๑๒  สพฺเพ วินิปาติกา นั้น ผู้ปฏิบัติจง นำมาประกอบเรื่องโดยทำนองเดียวกับบุคคลที่ ๑ ต่างแต่ต้องยกเอาบุคคลนั้น ๆ มา ประกอบแทนตรงที่ว่า   สตฺตา ในคำบาลีตรงที่ว่า สัตว์ ในคำภาษาไทยเท่านั้น โดยว่า เรียงลำดับดังต่อไปนี้ 
          ๑. สตฺตา, ๒. ปาณา, ๓. ภูคา, ๔. ปุคฺคลา,  ๕. อตฺตภาวปริยาปนฺนา, ๖. อิตฺถิโย,
๗. ปุริสา, ๘. อริยา, ๙. อนริยา, ๑๐. เทวา, ๑๑. มนุสฺสา,  ๑๒. วินิปาติกา

         



[1] พระมหาสมปอง  มุทิโต,  คัมภีร์อภิธานวรรณา,  (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ธรรมสภา,  พิมพ์ครั้งที่    /  ๒๕๔๒), หน้า  ๒๑๕
[2] สมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปรินายก,  รสแห่งความเมตตาชุ่มเย็นยิ่งนัก,  (กรุงเทพมหานคร  :  โรงพิมพ์ธรรมสภา, ๒๕๔๒),  หน้า  ๓๗
[3] สทฺ.โช.  ๑๒๘ / ๑๑๗;  อฏฐสา.  ๔๒๘ / ๒๔๗;  วิสุทฺธิ. ๒ / ๑๒๓.
[4] พระอุปติสสะเถระ,  วิมุตติมรรค,  (กรุงเทพมหานครฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  ๒๕๔๙), หน้า  ๑๘๐
[5] พระธรรมปิฏก  (ป.อ.  ปยุต.โต)  พจนานุกรมพุทธศาสตร์    ฉบับประมวลศัพท์  พิมพ์ครั้งที่  ,  ( กรุงเทพมหานครฯ : โรงพิมพ์สหธรรมมิก, ๒๕๔๕),  หน้า  ๑๒๑, 
[6] ที.ม.  ๑๐ / ๒๙๕ / ๓๔๒; ม.มูล. ๑๒ / ๑๔๖ / ๑๑๘;  ม.อุป. ๑๔ / ๗๐๑ / ๔๕๒.
[7] ป.สู. ๔ / ๓๐๖ / ๑๙๑.
[8]มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ,  ความรู้เบื้องต้นในพระพุทธศาสนา ตอนที่  , ไชยวัฒน์กปิลกาญจน์  รวบรวม, (กรุงเทพมหานคร ฯ : 
โรงพิมพ์มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ, ๒๕๓๘), หน้า ๗๓
[9] พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน,  พ.ศ.  ๒๕๒๕,  พิมพ์ครั้งที่  ๕,  (กรุงเทพมหานคร ฯ : โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์จำกัด  ๒๕๓๘),  หน้า  ๗๗๒
[10] อภิ.วิ. ๓๕ /๙๕๐ / ๔๙๘.
[11] อภิ.กถา.๓๗ / ๑๖๓๘ / ๗๐๖.
[12] ที.ปา. ๑๑ / ๓๒๐ / ๒๖๐ : ๔๒๘ / ๓๐๔ : อํ.ปญฺจก. ๒๒ / ๒๘๔ / ๓๒๔
[13] ม.ม. ๑๓ / ๑๔๔ / ๑๔๐.
[14] อภิ.วิ. ๓๕ / ๙๕๐ / ๔๙๘.
[15] อภิ.วิ. ๓๕ / ๙๕๐ / ๔๙๘.
[16]  วิสุทฺธิ ๒ / ๑๒๐
[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๑๘
[18] เรื่องเดียวกัน
[19] เรื่องเดียวกัน
[20] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๑๙
[21] พระสัทธัมโชติกะ ธัมมาจริยะ,  ปรมัตถโชติกะ  มหาอภิธัมมัชฌิมอาภิธรรมมิกโท,  (กรุงเทพฯ              :  โรงพิมพ์ทิพยวิสุทธิ์, ๒๕๓๙) หน้า  ๑๙๓.
[22] อภิ.วิ. ๓๕ / ๗๔๓ / ๓๗๑.
[23]  วิสุทธิ. ๒ / ๑๑๘
[24] วิสุทธิ. ๒ / ๑๑๘ – ๑๑๙
[25] พระพิมลธรรม  อาสภเถระ,  วิสุทธิมรรค-ความไทย, อ้างแล้ว  (กรุงเทพมหานคร:  โรงพิมพ์ประยูรวงศ์, ๒๕๑๘)  หน้า  ๘๙.
[26] เล่มเดียวกัน, หน้า  ๑๒๘.
[27] พระพิมลธรรม  อาสภเถระ,  วิสุทธิมรรค-ความไทย, อ้างแล้ว  (กรุงเทพมหานคร:  โรงพิมพ์ประยูรวงศ์, ๒๕๑๘)  หน้า  ๘๙.
[28] วิสุทฺธิ. ๒ / ๙๔
[29] พระพิมลธรรม  อาสภเถระ,  วิสุทธิมรรค-ความไทย, อ้างแล้ว  (กรุงเทพมหานคร:  โรงพิมพ์ประยูรวงศ์, ๒๕๑๘) 
หน้า  ๙๐-๙๑.
[30] อังคุตตรนิกาย  จตุกกนิบาต.  พระสูตรและอรรถกถาแปล  เล่มที่  ๒. (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕), หน้า  ๓๓๑-๓๓๔.
[31] เรื่องเดียวกัน, หน้า๓๓๔ – ๓๓๕
[32] วิสุทฺธิ ๒ / ๑๒๐  
[33] เรื่องเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น